การสร้างบ้านหรือปรับปรุงบ้านสักหลัง สำหรับใครหลายคนมักจะเป็นประสบการณ์แรก หรือก็เป็นประสบการณ์ที่ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ นั่นจึงทำให้เรามักจะขาดความรู้และประสบการณ์ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดความโชคร้ายกับบางคนที่อาจจะได้พบเจอกับผู้รับเหมาที่ขาดความรับผิดชอบและขาดประสบการณ์ ทำให้เราเจอการบริการที่แย่จนต้องปวดหัว
วันนี้ ในบ้าน ก็มีเรื่องราวดีๆ เกี่ยวกับ ประสบการณ์การรู้ทัน และวิธีป้องกัน เมื่อต้องเจอผู้รับเหมาแย่ๆ จากคุณ Leethanakorn ที่จะมาถ่ายทอดประสบการณ์ให้กับเพื่อนชาวเว็บ เพื่อเป็นข้อมูลสำคัญให้คำได้คำนึงเมื่อถึงคราวที่เราจะต้องจ้างผู้รับเหมาเพื่อสร้างหรือปรับปรุงบ้านของเราเอง ตามมาชมกันเลยครับ
แชร์ เจอผู้รับเหมาแย่ และวิธีป้องกัน (เสียก็เสียไม่มาก)
(โดยคุณ Leethanakorn)
ประสบการ์ครั้งแรกในชีวิตเกี่ยวกับการปรับปรุงบ้านครับ ไม่มีความรู้มาก่อน ครั้งนี้ได้ประสบการณ์เยอะ เลยอยากมาแชร์ไว้ เผื่อใครมีโครงการจะทำบ้าน หรือ หาผู้รับเหมา จะได้เตรียมตัวไว้ก่อน
ซื้อบ้านมือสองมาครับ เป็นบ้านหลังแรกที่จะใช้ชีวิตกันหลังแต่งงาน (พิกัดลาซาลซอย 1 ผู้รับเหมาอยู่แบริ่ง ชื่อย่อ ป.ปลา)
ความผิดพลาดจากความใจดี (โง่ของผมเอง) เชื่อใจ และไม่คิดว่าจะมีปัญหา เพราะช่างก็มาจากคนรู้จักกัน
สัญญาเริ่มงานวันที่ 24 ธันวาคม กำหนดเสร็จ 3 มีนาคม +/- 15 วัน และวันนี้ 12 เมษายน ยังไม่เสร็จ ช่างบ่ายเบี่ยงที่จะทำงานต่อ ขอเงินเพิ่ม อีก 1 แสนบาท โดยให้เหตุผล เพราะมีส่วนอื่นนอกสัญญา เช่น กำแพงครัวและห้องน้ำเบี้ยว ต้องปรับให้ตรงก่อนปูกระเบื้อง (ยอมรับว่าจริงครับ)
กระเบื้องคิดว่าจะปูสูงแค่ 1.8 เมตร แต่ให้ปูถึงฝ้า ซึ่งสูง 2.35 เมตร (อันนี้จริงๆ คุยไว้แล้ว แต่พลาดที่ไม่ได้เขียนไว้ในสัญญา เพราะแรกๆ อะไรก็ดูดี สวยงามไปหมด เราก็ไม่ได้อะไร บอกอะไรไปเขาก็ว่าได้ๆ ได้หมด)
สรุปคือทั้งหมดทั้งมวลที่นอกสัญญา ก็ไม่ได้เยอะขนาด จะถึง 1 แสนบาท (สัญญาเดิมจบที่ 7.5 แสน)
ตอนนี้อยู่ในขั้นตอนไกล่เกลี่ย หากไม่สรุปใน 16 เมษายน คงต้องใช้ ทนายและตำรวจเข้าไปคุย ซึ่งไม่รู้จะช่วยได้มากน้อยเท่าไหร่ (และถ้าจบไม่สวยคงต้องมีภาตต่อแน่นอนครับเรื่องนี้)
ต่อไปคือการเตรียมตัวสำหรับหาผู้รับเหมาและจัดทำบ้านนะครับ
1. หาผู้รับเหมาที่มีตัวตน
มีบ้าน มีบริษัท ที่อยู่ชัดเจน ไม่ใช่บ้านเช่า
2. อย่าไว้ใจใครทั้งสิ้น
3. ทำสัญญาแบ่งเป็นส่วนๆ
ย่อยได้เยอะเท่าไหร่ยิ่งดี เช่น ตกแต่งบ้าน 2 ชั้น แบ่งเป็นห้องๆ ส่วนๆ ลงไปอีก มีงานทุบหรือมีงานก่อ? ทุบหรือก่อกี่วัน? ค่าใช้จ่ายเท่าไหร่?
ยกตัวอย่าง : ถ้าช่างบอกทำส่วนนี้ 10 วัน 10,000 บาท ทำครึ่งนึง 5 วัน จ่าย 5,000 เสร็จงานจ่าย 5,000 หรือช่างไม่มีเงิน ก็ให้เบิกเป็นส่วนๆ ไป ค่าของค่าแรง ค่าของ(เอาบิลมาด้วย) ถ้าทำไม่ดี หรือเบี้ยวงาน ก็เปลี่ยนช่างได้ ไม่เสียหายมาก
4. ทุกย่างที่อยู่ในแผน ให้ลงในสัญญา
ยิ่งละเอียดเท่าไหร่ยิ่งดี วัดหน่วยเป็นเซนติเมตรได้ กำหนดสเป็คทุกอย่างให้ชัดที่สุด สายไฟยี่ห้ออะไร เหล็กแบบไหน สียี่ห้อไหน ให้หยิบย่อยที่สุดเท่าที่จะทำได้
5. อย่าขี้เกียจหาข้อมูล
เช็คราคาสินค้าทุกอย่างว่าของที่เขาจะเอามาใช้ ราคาเป็นยังไง เกรดไหน มีข้อดี ข้อเสียอะไร
6. กำหนดวันเสร็จและค่าปรับ
7. ถ้าทำงานใหญ่ ให้ทนาย หรือคนที่มีความรู้ช่วยเช็คสัญญาอีกรอบ
8. ถ่ายคลิปเหตุการณ์
ถ่ายรูปทุกอย่างวันทำสัญญา ถ้ามีบ้าน ไปถ่ายบ้าน มีรถ ถ่ายรถ ขอเอกสารทุกอย่างที่ทำได้ เอกสารกิจการ บัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน (ไม่ต้องเกรงใจ ถ้าคนดีๆ เขาไม่กลัวที่จะให้อยู่แล้ว)
9. อย่าให้ช่างเบิกอะไร นอกเหนือสัญญา นอกเวลา ทุกกรณี
ถ้าต้องซื้อของจริงๆ ให้ทำบิลมาเบิก และเราจ่ายเอง หรือไปรับสินค้าด้วยกัน
10. อย่าทิ้งบ้านไว้กับช่าง
ถ้าเราไม่มีเงินขนาดจ้างสถาปนิคมาคุมงานแต่แรก ก็ควรหาเวลาเข้ามาดูการทำงานของช่างให้ได้ อย่างน้อยวันละครั้ง หรือจ้างคนมาดูงาน หรือถ่ายรูปส่งให้เป็นระยะๆ
เห็นผิดพลาดตรงไหน ให้แก้เลย อย่าเกรงใจ หรือทิ้งไว้เนิ่นนาน (จริง ๆแก้ไม่ได้ยากอย่างที่เราคิด)
11. อย่าหวังพึ่งศาลสูงหรือกฏหมาย
เพราะค่าใช้จ่ายไม่ถูก เสียเวลามากและ อาจไม่ได้อะไร เพราะช่างที่ไม่มีอะไร จะเอาอะไรมาให้
12. อย่าหวังพึ่งศาลเตี้ย
อารมณ์ชั่ววูบอาจได้ไม่คุ้มเสีย
ประสบการณ์ครั้งนี้ หวังว่าคงจะได้ประโยชน์ไม่มากก็น้อย ขอบคุณมาก ๆ ครับ
สุดท้าย ขอให้ทุกคนได้ช่าง ได้งาน ที่สมหวังสมใจครับ
ปล. ทำเพจไว้ครับ เผื่ออนาคตจะได้เป็นที่เรียนรู้และป้องกัน ผู้รับเหมาที่ไม่ดี facebook.com/fcukCon
ที่มา : Leethanakorn .