โดยปกติแล้วบ้านแต่ละหลัง แม้ว่าจะถูกสร้างขึ้นอย่างแข็งแรงมั่นคง แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาผ่านไปสัก 10 ปี ก็ควรจะมีการตรวจสอบโครงสร้างทั้งภายในและภายนอก เพื่อดูว่าควรจะมีการปรับปรุงหรือแก้ไขจุดใดบ้าง ให้การใช้ชีวิตในบ้านราบรื่นไร้ปัญหากวนใจ
วันนี้ ในบ้าน ก็มีเรื่องราวดีๆ จากคุณ RoaringSilence ที่ได้ทำการรีโนเวท บ้านอายุ 10 ปี ของตัวเอง เพื่อให้บ้านกลับมาสวยงามแข็งแรงมั่นคงทั้งภายนอกและภายใน สำหรับใครที่กำลังจะรีโนเวทบ้าน ไปติดตามเรื่องราวในบทความนี้เพื่อเป็นข้อมูลศึกษากันได้เลยครับ
บ้านสิบปี++ ถึงคราวปรับปรุง-ต่อเติม
(โดยคุณ RoaringSilence)
วันนี้จะมารีวิวการต่อเติมปรับปรุงบ้านผมนะครับ เนื่องจากซื้อและเข้าอยู่มาได้สิบปี++ แล้ว (ยังผ่อนจนถึงวันนี้ ฮือๆ) สภาพบ้านโดยรวมก็ยังใช้ได้ดีอยู่ ที่เห็นเปลี่ยนหนักๆ คือ สีรอบบ้านซึ่งนอกจากซีดหมดแล้ว ยังเต็มไปด้วยตะไคร่ดำๆ ตามสภาพละครับ เรียกว่าตั้งแต่ซื้อยังไม่เคยทาสีใหม่เลยสักครั้ง จนข้างๆ บ้านโดยรอบเขาทำกันไปหมดทุกบ้านแล้ว(55)
และตัวบ้านที่เป็นปัญหาทางกายภาพ คือ ครัวมีขนาดแคบเกินไป คือ ประมาณ 6-7 ตารางเมตรเท่านั้น ซึ่งพอรวมเคาท์เตอร์ ใส่ตู้เย็น ไมโครเวฟ ฯลฯ เข้าไปแล้วก็แน่นๆ เดินสองคนหยิบข้าวของจัดว่าตัวลีบทีเดียว
เนื่องจากผมไม่สามารถปรับเปลี่ยนได้บ่อยๆ ด้วยงบประมาณ การต่อเติมครั้งนี้เลยมีเป้าทำให้มากที่สุดเท่าที่ไหว เลยสรุปกันตรงที่ ต่อพื้นที่ด้านหลังเป็นครัวให้ใหญ่ขึ้น ขนาดพื้นที่ส่วนต่อเติม 16 ตารางเมตร ทุบผนังด้านข้างบ้าน+ใส่ประตูเลื่อนอลูมิเนียม ต่อเป็นเฉลียงข้างบ้านออกไป 16 ตารางเมตร และต่อเติมตรงพื้นที่ห้องโรงรถอีก 17 ตารางเมตร (ยังมีพื้นที่นอกตัวบ้านจอดรถได้อีก 2 คันเหมือนเดิม)
ส่วนนี้เป็นความต้องการหลักที่เอาไว้เปรียบเทียบหาผู้รับเหมามาดำเนินการ ซึ่งผมไม่ได้อยู่ในแวดวงการก่อสร้างเลย จะหาใครมาทำก็ไม่แน่ใจ เขาจะทิ้งงานไหม งบประมาณจะพอไหม ทีนี้ผมก็หาช่างมาตีราคาตาม requirement ได้สามเจ้า ซึ่งการเลือกช่าง ผมใช้วิธีเข้าไปไล่ดูผลงานใน facebook ว่าผู้รับเหมาดำเนินการที่ไหน อย่างไร ระยะเวลาในการทำงานจนเสร็จ เลาะๆ ไปจนถึงเจ้าของบ้านในผลงานเก่าๆ นั้นว่าเป็นม้าหรืออะไรหรือไม่
ตรงนี้ผมคิดเองคนเดียวว่าช่วยได้เยอะเหมือนกันที่ทำให้ได้ช่างที่ผมพอใจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีการต่อเติมของบ้านผมที่มีข้อจำกัด คือ ผมไม่ได้ย้ายออกในขณะดำเนินการต่อเติม ตั้งแต่เริ่มจนจบ และที่บ้านผมในเวลาช่างทำงานก็ไม่มีคนอยู่เฝ้าช่างให้
ซึ่งก็คือ ฝากบ้านไว้กับช่างนั่นเองแหละครับ
หลังจากเปรียบเทียบราคาสามเจ้า (ใครไหวก็สามารถเปรียบเทียบเพิ่มเจ้าได้อีกนะครับ เงินเป็นของเราอยู่ตอนนี้) ก็ได้ช่างเข้ามาทำงานต่อเติมครับ ตกลงราคากันเรียบร้อยแล้ว ช่างอ้วนก็นัดวันเข้าหน้างานวันแรกทันที (สัญญาที่ทำ คือ จ่ายงวดแรก 30% ณ วันเข้างาน โครงสร้างเสร็จจ่ายอีก 40% งวดสุดท้ายเมื่องานเสร็จจ่ายอีก 30%)
ในกรณีสัญญาแบบนี้ ทางเจ้าของบ้านจะหวาดเสียวมากในงวดที่สอง ซึ่งกลับกันทางช่างก็จะหวาดเสียวในช่วงงวดสุดท้ายตอนงานใกล้ๆ เสร็จ ซึ่งพอผ่านงานมาเรียบร้อยแล้ว ในความเห็นส่วนตัวผมคนเดียว คิดว่าน่าจะแบ่งงวดงานออกเป็นสี่งวดน่าจะแฟร์ๆ กันทั้งสองฝ่าย โดยอาจเป็น 20 – 30 – 30 – 20 แต่อันนี้ก็ต้องแล้วแต่ตกลงกัน
เพราะผมมองในมุมเจ้าของบ้านเท่านั้น ในมุมของช่างอ้วนอาจ 30-40-30 โอเคกว่าเพราะต้องมีค่าแรงคนงาน ฯลฯ ตรงนี้เป็นความเห็นผมคนเดียวให้เป็นข้อพิจารณาไว้ครับ
มาดูรูปวันเข้าทำงานวันแรกไปจนถึงช่วงแรกๆ กันดีกว่า
วันนี้ก็เป็นวันที่ต้องลางานเพื่อมาอยู่กับช่างนะครับ พอมาถึงช่างอ้วนก็ดำเนินการรื้อถอนกันสาดทั้งด้านหลังและด้านข้างบ้านทันที
แปปเดียว พอรื้อเสร็จก็ดูโล่งๆ เลยทีเดียว
ระหว่างนั้นเข็มที่ช่างสั่งไว้ก็มาส่งครับ
ทีมตอกเข็มก็ขุดกันอย่างรวดเร็ว งานเข็มทั้งหมดเสร็จในวันเดียว สองทุ่มโดยประมาณ (ลักษณะงานช่างอ้วนจะมีลูกน้องอยู่ไม่กี่คนนะครับ งานบางอย่าง ก็คือ sub มา ยกตัวอย่าง งานเสาเข็มน่าจะเป็นทีมที่คุ้นเคยกันดีนะครับ ปกติของงานต่อเติมนะครับ)
งานก่อแบบคานก็ตามมาในวันต่อๆ มา ช่วงแรกนี่เร็วมากเลยครับ เรียกว่า หลังจากจ่ายเงินงวดแรกปุ๊ป ไม่นานเท่าไรก็ต้องจ่ายงวดสองเลยนะครับ เพราะโครงสร้างเสร็จถึงจุดจ่ายเงินงวดสองแล้ว
.
.
งานเท
งานก่อ
โครงหลังคา สังเกตว่าบางรูปผมจะเป็นกลางคืน เพราะไม่ได้อยู่เวลาช่างทำทุกวันครับ ใช้วิธีกลับไป เจอว่ามีงานอะไรคืบหน้าไปบ้าง
ระหว่างทางการต่อเติมก็ปรับแก้กันไป อาศัย line คุยกะช่างอ้วนครับ ทำไปแค่แปปเดียวก็มีงานงอกมาตามปกติ ไม่ได้คิดเรื่องทาสีบ้านใหม่ทั้งหลัง (ตอนแรกคิดว่าทำเสร็จก่อนค่อยทา) แต่พอเช็คกับช่างอ้วนแล้ว
การทาด้านบนแล้วไล่ลงมาจะช่วยให้ไม่ต้องเก็บงานซ้ำซ้อนครับ ถ้าจะต่อเติม+ทาสี ก็ลองปรึกษาช่างดูละกันนะครับ บางทีขั้นตอนมันจะไม่เหมือนที่เราคิดไว้ทีแรก พร้อมกันนั้นก็งอกกันสาดสำหรับจอดรถกะรอบบ้านเพิ่มมาอีก ค่าใช้จ่ายส่วนนี้ก็บานออกมาอีกพอสมควร ต่อเติมซ่อมแซมบ้านจึงต้องมีงบสำรองไว้เยอะๆ หน่อยนะครับ
จากนั้นก็เป็นเรื่องของการเลือกสี เลือกกระเบื้อง วิธีที่ดีที่สุดสำหรับราชสีห์อย่างเราก็คือ ให้คนที่บ้านเลือกครับ เรามีหน้าที่คอยพาไปซื้อไปจ่ายตามที่เลือกเท่านั้น(55) ตรงนี้ก็มีการซื้อเพิ่มลายที่ขาดอีกเป็นงวดๆ อีกทั้งในส่วนของงานก่อสร้างก็เริ่มฝุ่นเยอะแล้ว เพราะมีการทุบผนังบ้านทำเป็นช่องประตู ทั้งด้านข้างและด้านหลังส่วนครัว ฝุ่นเพียบครับ
หลังจากต่อเติมเสร็จก็ยังต้องเช็ดล้างกันอีกพักใหญ่ๆ เลยครับ มาดูรูปช่วงทำงานเป็นระยะๆ จนเสร็จละกันนะครับ เนื่องจากไม่ได้ถ่ายรูปไว้ตลอดทุกช่วง ก็เอาเป็นเท่าที่มีละกันนะครับ
งานข้างล่างยังไม่เสร็จ แต่ก็มาทาสีไล่จากบนลงล่างก่อนครับ
ตัวกันสาดโรงรถกับข้างบ้านก็ยังไม่ติดนะครับ รอจนทาสีเก็บเกือบหมดแล้วค่อยติด
.
งานฉาบ
พอใกล้เสร็จงานก็เริ่มงานทุบ เพื่อติดประตูอลูฯ ครับ
ช่วงประตูยังไม่มาก็ใช้ เหล็กสังกะสีตัว C กะแผ่นยิปซัมปิดไปก่อนนะครับ ดีที่อยู่ในหมู่บ้านปิดมี รปภ ถ้าเป็นถนนสาธารณะคงได้อยู่เฝ้า 55
รูปนี้ติดเสร็จแล้วแต่ยังไม่เอาแผ่นยิปซัมข้างในออก
ครัวด้านหลังก็ทุบเช่นกันปิดไว้เหมือนกันครับ และหยุดสงกรานต์ มาว่ากันต่อหลังสงกรานต์ครับ
ก่อนงานจะเสร็จก็มีรายการอุปกรณ์ต่างๆ เพิ่ม คือ ที่ดูดควัน ท้อปเคาน์เตอร์ แอร์ 1 เครื่อง และเครื่องใช้ไฟฟ้าเพิ่มเติม พวกนี้ก็ต้องคำนวณงบประมาณไว้ด้วยนะครับ
หลังจากงานเสร็จแล้วก็ยังมีเรียกช่างมุ้งลวดที่หาจาก fb เหมือนกันมาติดมุ้งลวดเพิ่ม ซึ่งตรงนี้ผมก็พลาดไป ตอนต่อเติมน่าจะระบุไปเลยว่า หน้าต่างประตูพร้อมมุ้งลวดทีเดียว นอกจากนี้ยังมีงานที่ผมทำเองต่อ คือ ติดฟิล์มกระจกรอบบ้าน ก็อาศัยสั่งซื้อ online นั่นแหละครับสะดวกดี ให้เขามาส่งแล้วทยอยติดเอง
และงานขัดและทาสีรั้วรอบบ้านเอง บวกกับมีส่วนที่ยังทำอยู่และยังไม่เสร็จ คือ ปูพวกแผ่นทางเดินรอบบ้านใหม่ งานที่ยังปล่อยไว้ก่อนคือ รื้อบัวพื้นเดิมที่โดนปลวกกิน+ซ่อมบันไดที่โดนแทะไปบ้าง (บัวพื้นคงรื้อติดใหม่เป็น pvc เอง)
ยังมีงานค้างที่ต้องทำอีก คือ ลอกวอลเปเปอร์และติดใหม่เรียกได้ว่าทั้งหลังเลยก็ได้ ตรงนี้ยังก้ำกึ่งว่าจะทำเองบางส่วนกะจ้างเขาบางส่วนดีไหม เพราะถ้าใน ระยะความสูงธรรมดาที่ขึ้นลงเองง่ายๆ ผมก็คิดว่าน่าจะทำเองได้
แต่ยังคิดไม่ตกตรงช่องว่างบันได ซึ่งน่าจะต้องใช้บันไดสามเมตร+หรือนั่งร้านกันเลยทีเดียว แถมยังระดับพื้นที่ไม่เท่ากันของขั้นบันไดด้วย สงสัยอาจจะต้องเสียตังค์จ้างช่างอีกงานนึง
ตัดไปจบเสร็จเลยละกันนะครับ ปูกระเบื้อง ติดไฟ ติดปลั๊ก ทำเคาน์เตอร์ วางท็อป
ท้อปที่ช่างอ้วนวัดไว้ให้ ผมไปสั่งตัดมาให้ช่างอ้วนติด ขนาดเกินไปหน่อย ก็เจียรออกครับ อันนี้วันท้ายๆ ละครับ งานเสร็จเกือบหมดแล้ว
กันสาดข้างบ้านใช้โครงกันสาดเดิมที่ถอดออกมาใส่แผ่นใหม่นะครับ
สรุป ในส่วนรีวิวช่างอ้วนอยู่ที่ตรงนี้ครับ
1. สำหรับเคสผมไว้ใจได้ เนื่องจากเปิดรั้วไว้ให้ช่างเข้ามาทำงาน มีข้าวของเครื่องใช้บางอย่างอยู่นอกบ้านเยอะอยู่ (แต่ไม่ใช่ของมีค่าอะไรมากนะครับ พวกเครื่องมือ DIY จีนแดงทั่วไป) และเอาเข้าจริงๆ ถ้าจะเข้ามาในบ้านช่วงต่อเติมก็ไม่ยากเลย แต่ตลอดการทำงานไม่มีข้าวของสูญหายเลย
ผมลางานไม่กี่วันเท่านั้นตลอดการต่อเติมบ้านครั้งนี้ (ประมาณ 5-7 วัน) ในขณะที่หลังจากนั้นเรียกช่างมาติดจานดาวเทียมเพิ่ม กลับพบว่ามีเครื่องมือหายหลังจากติดจานเสร็จ พวกไขควง ประแจ
2. งานรวมๆ ถือว่าเรียบร้อยในระดับเหมาะสมกับราคา (?ก็ไม่รู้เหมือนกันครับ บางคนอาจจะมองว่าแพงเกินไปหรือเปล่าก็ไม่ทราบเหมือนกัน) แต่สำหรับผมบอกตรงๆ ว่าตอนเลือกก็ไม่ได้รู้จักตัวช่างอ้วนมาก่อนครับ ทำให้คิดว่าในราคานี้ได้งานครบไม่โดนทิ้งงานให้เกิดปัญหา งานเสร็จออกมาใช้งานได้ ผมก็โอเคมากๆ แล้ว
และยินดีที่จะมารีวิวให้โดยที่ไม่ได้อะไรครับ สำหรับผมก็ดีกว่าจะไปเจอช่างที่มาทำแล้วทิ้งงาน ซึ่งสร้างทั้งปัญหาและค่าใช้จ่ายเพิ่มเติม
3. ผมไม่สามารถรับประกันอะไรในตัวช่างอ้วนในกรณีอื่นๆ ได้ นอกจากบอกเล่าประสบการณ์ที่ได้รับจากช่างอ้วนในช่วงที่มาดำเนินการซ่อมแซมต่อเติมบ้านผมให้ฟังเท่านั้นนะครับ เรื่อง คชจ และเบอร์ติดต่อสำหรับผู้สนใจเข้าไปติดต่อว่ากันเองตามเหมาะสมเลยนะครับ
สรุป ส่วนของผม
พอทำเสร็จแล้ว พื้นที่บ้านที่ใช้สอยก็เพิ่มขึ้นแบบสบายขึ้นพอสมควร พร้อมๆ กับการเคลียร์ของไม่จำเป็นออกจากบ้านได้อีกกองนึง + ของซื้อเข้าใหม่อีกกองนึง งานเริ่มกลางเดือน กพ. เสร็จปลายเดือน เม.ย. (ติดหยุดสงกรานต์ไปพอสมควร) ถัวๆ แล้วประมาณสองเดือนพอดี แต่หลังจากเสร็จงานช่างแล้ว งานทำเองนอกบ้านในบ้านสองเดือนแล้วก็ยังไม่เสร็จ คงค่อยๆ ไล่ทำไปเรื่อยๆ อีกทั้งปีนี้เลยกระมังครับ
มีเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย ดังนี้ครับ
1. ทาสีใหม่เหมือนได้บ้านใหม่ครับ ถ้ายังไม่มีงบทำอะไรอย่างอื่น ทาสีก็เวิร์คแล้ว
2. พวกปลั๊กไฟตามจุดต่างๆ ให้คิดเพิ่มเผื่อเหลือไว้ก่อนจะดีกว่านะครับ ตอนนี้ในครัว จุดต่อปลั๊กไม่พอ
3. เครื่องกรองน้ำต้องมีติดบ้าน (เน้นว่าควรเป็นระบบ RO) ที่บ้านตัดสินใจใช้แบบตู้กดน้ำร้อนเย็นแบบกรองในตัวทีเดียวเลยครับ ถ้าสะดวกต้มน้ำเองมีแค่เครื่องกรองก็น่าจะพอครับ
4. พวก safe-t-cut ก็ควรต้องติดครับ จะเป็นแบบจุดหรือแบบรวมก็ตามแต่ถนัด มันช่วย safe ได้เวลาต่อเติมบ้าน
ที่มา : RoaringSilence .