บ้านชั้นเดียวหลังนี้ ให้ความรู้สึกผ่อนคลายตั้งแต่ดีไซน์นอกบ้าน ไปจนถึงภายในบ้าน โดยการออกแบบภายนอกถูกเว้นที่ด้านหน้าไว้ค่อนข้างกว้าง เพื่อให้เป็นพื้นที่สำหรับลานคอนกรีตเว้นช่องให้หญ้าขึ้น นอกจากนั้นแล้วยังมีวัสดุอื่นๆ ซึ่งช่วยลดทอนความแข็งกระด้างของพื้นคอนกรีตอีกที นั่นก็ คือ ผนังไม้สีอ่อนค่ะ
โถงทางเดิน
เมื่อเดินจากลานด้านนอก จนเข้าสู่ตัวบ้านจะพบกับโถงทางเดินเป็นจุดแรก และได้แยกทางเข้าห้องไว้ทางฝั่งขวามือทั้งหมด ตามแบบฉบับบ้านสไตล์ญี่ปุ่นดั้งเดิม ซึ่งฝั่งขวามือจะมีตู้สำหรับเก็บของ เวลาที่แขกมาเยี่ยมก่อนจะเข้าไปยังพื้นที่ส่วนอื่นๆ ของบ้าน
พื้นที่ใจกลางบ้าน
พื้นที่หลักที่คนในครอบครัวได้ใช้บ่อยที่สุด คือ ห้องนั่งเล่น และพื้นที่รับประทานอาหารค่ะ นอกจากนั้นแล้วสิ่งที่แตกต่างจากบ้านอื่นๆ คือ แทบทุกพื้นที่ได้รับแสงธรรมชาติ รวมทั้งมุมมองวิวสุดกว้างจากบานกระจกขนาดใหญ่รอบๆ อีกด้วย ไม่เพียงเท่านั้นวัสดุไม้โดยรอบก็ช่วยสร้างบรรยกาศอบอุ่นผ่อนคลายได้เป็นอย่างดี
จุดเด่นอีกอย่างบริเวณโถงนั่งเล่น คือ การออกแบบเพดานห้องแบบไม่มีฝ้า เป็นทรงจั่วลึกเข้าไป พร้อมโชว์คานไม้ขนาดใหญ่ จึงทำให้ทุกอย่างดูโอ่โถง โปร่งโล่ง อีกทั้งแสงที่ส่องเข้ามาจะกระทบกับเพดานด้านบน ช่วยให้ห้องดูสว่างสไวมากขึ้น
เมื่อออกไปด้านนอกจะพบกับเฉลียงทางเดินไม้รูปตัวแอล (L-Shaped Terrace) เหมาะสำหรับการทำกิจกรรมเอาท์ดอร์ด้านนอก ไม่ว่าจะเป็นการปิ้งย่างบาร์บีคีว หรือจัดงานเลี้ยงสังสรรค์ภายในครอบครัว
มุมนั่งเล่นหมากล้อม
มุมยกพื้นสูงตรงนี้ไม่ได้เป็นเพียงแค่สำหรับนั่งเล่นหมากล้อมอย่างจริงจังเท่านั้น แต่ยังสามารถนั่งพักผ่อนจิบชาร้อน และชื่นชมภาพตัวอักษรญี่ปุ่นที่ถูกขีดเขียนไว้อย่างสวยงามได้อีกด้วย
ห้องนอน
ในส่วนของห้องนอนให้กลิ่นอายอบอุ่น และมีความคลาสสิคเบาๆ ทั้งเฟอร์นิเจอร์ไม้ วอลเปเปอร์ลวดลายสวยงาม ดีไซน์โดย William Morris นักออกแบบลวดลายผ้าทอชื่อดังชาวอังกฤษในช่วงปี ค.ศ. 1800s
พื้นที่สำหรับนั่งทำงาน ที่ถูกแยกทางเข้าไว้อีกทางหนึ่งต่างจากหลายๆ ห้องของบ้านที่มีมุมทางเข้าใกล้ๆ กัน นั่นก็เพราะว่าจะช่วยให้เกิดสมาธิระหว่างทำงาน และหลีกหนีความวุ่นวายจากห้องอื่นๆ
ห้องน้ำ
ห้องน้ำถูกดีไซน์ให้เป็นสีเขียวสบายตา ตามสีโปรดของภรรยาเจ้าของบ้านนั่นเอง โดยภายในห้องน้ำยังเลือกดีไซน์วอลเปเปอร์คล้ายคลึงกับห้องนอน และยังจัดวางสุขภัณฑ์ได้ลงตัวมากๆ ภายในพื้นที่ขนาดเล็ก
เพื่อนๆ ที่เคยไปญี่ปุ่นอาจจะสังเกตได้ว่า บ้านส่วนใหญ่แล้วจะแยกห้องอาบน้ำ กับห้องน้ำออกจากกัน ซึ่งมีข้อดีตรงที่ว่าไม่ต้องแย่งกันใช้ และยังไม่ต้องกังวลเรื่องห้องเปียกจากการใช้งานรวมกัน
จบกันไปแล้วค่ะสำหรับบ้านญี่ปุ่นโมเดิร์นหลังนี้ ถ้าเพื่อนๆ ชอบบ้านหลังนี้ก็สามารถลองนำไปใช้เป็นแนวทางในการออกแบบได้นะคะ แล้วพบกันใหม่ในบทความหน้าค่ะ ^^
ที่มา : sfc.jp
.