การที่บ้านจะเป็นบ้านที่สมบูรณ์แบบได้นั้น ต้องมีองค์ประกอบสำคัญไม่ว่าจะเป็นห้องนอน ห้องน้ำ และที่ขาดไม่ได้เลย คือ ห้องครัว ซึ่งเป็นพื้นที่สำคัญของบ้านสำหรับใช้จัดเก็บและจัดเตรียมอาหารของสมาชิกในบ้าน โดยห้องครัวสามารถดีไซน์ได้หลายสไตล์ไม่ว่าจะเป็นแบบโมเดิร์น หรือเรียบง่ายคลาสสิคแบบครัวไทย
และวันนี้ ในบ้าน ก็มีเรื่องราวที่น่าสนใจของคุณ Apple Devil ที่ได้ออกแบบ สร้างครัวไทยขนาดเล็ก ที่เข้ากับดีไซน์หลักของบ้านที่เป้นบ้านทรงไทยประยุกต์ โดยเป็นครัวที่แฝงไปด้วยกลิ่นอายความโบราณสุดวินเทจ แต่สามารถใช้ประโยชน์ได้ดี เราไปรับชมการรีวิวครั้งนี้กันได้เลยครับ
รีวิว ครัวไทยเล็กๆ โบราณหน่อยๆ
(โดยคุณ Apple Devil)
วันนี้ขอมารีวิวครัวไทยเล็ก ๆ มีกลิ่นอายโบราณหน่อย ๆ นะครับ
อันที่จริงมันคืองานต่อเนื่องจากการสร้างเรือนโคราชหลังน้อย pantip เพราะช่างก็ชุดเดียวกัน ทำงานต่อเนื่องกันมา ภรรยาอยากได้ครัวไทยสักหลังนึงนอกจากครัวเดิมที่มีอยู่แล้ว จึงได้มาเป็นครัวไทยหลังนี้ครับ
ทางเข้าครัวจากใต้ถุนเรือน
จะมองเห็นครัวเก่าอยู่ด้านบน ซึ่งตอนนี้จะกลายเป็นมุมเครื่องดื่มจำพวกกาแฟเพียงอย่างเดียว
ครัวเดิมด้านบนเรือน ก็ยังคงสภาพนี้อยู่
โดยแนวความคิดอยากให้ครัวเป็นเหมือนเรือนไฟหรือครัวไฟหลังเล็ก ๆ มีสไตล์โบราณหน่อย ๆ อยากให้บริเวณบ้านเป็นลักษณะคล้ายเรือนหมู่แบบบ้านโบราณ ขนาดของครัวคือ 2.5 x 3 เมตร อะเสสูง 2 เมตรหลังคาจั่วครับ
ครัวหลังนี้ เป็นครัวที่สร้างแยกออกมาต่างหากจากเรือนใหญ่ แต่ไม่ได้มีโครงสร้างที่เชื่อมติดกัน ทำเป็นหลังคาจั่วอีกหลังหนึ่งเลย ช่างทำการเทปูนลงบนพื้นดินเดิมซึ่งเป็นดินที่แข็งได้ระดับแล้ว จากนั้นขึ้นโครงสร้างเหล็ก
เนื่องจากเรือนใหญ่เป็นเรือนโคราช ส่วนหน้าเรือนจะมีความสูงน้อยที่สุด คือท้องคานจะสูงจากพื้นราว ๆ 170 ซม. (สูงแล้วนะครับ เรือนโคราชของแท้หน้าเรือนสูงประมาณเมตรครึ่งเอง อิอิ) ทุกคนในบ้านสามารถเดินผ่านใต้ถุนเรือนไปได้แบบสะดวกโยธินเพราะไม่มีใครสูงเกิน ยกเว้นผม
ดังนั้นถ้าผมไม่มีปัญหาเรื่องระยะสูง คนอื่นก็ไม่มีปัญหา 555 ตั้งแต่ปลูกเรือนมาก็ยังไม่เคยหัวโขกนะครับ ระวังตัวตลอด ทำไงได้อยากได้แนวนี้เอง
จากนั้นทำการฝังเพลทเหล็ก หาระดับ เชื่อมเสา ตรงนี้ลุงแกใช้ช่างสองคนรวมตัวแกด้วย ส่วนช่างอีกสองคนก็ยังเก็บรายละเอียดเรือนโคราชน้อยอยู่ แกก่ออิฐแดงสองก้อนที่แถวล่างสุดเพื่อที่จะได้วางโครงคร่าวบนอิฐแดงนี้ เวลาฝนตกแรง ๆ น้ำจะได้ไม่ไหลเข้าครัว
สองวัน โครงสร้างเสร็จเรียบร้อย และเนื่องจากชายคาชิดเรือนไฟเดิม จึงต้องใส่รางน้ำ พร้อมกับตีไม้เพื่อป้องน้ำฝนกระเด็นขึ้นครัว ตรงนี้ถ้าฝนแรง มีผ้าใบป้องกันอยู่
จากนั้นลุงก็ทำการตีฝา ผมใช้ไม้ฝาเฌอร่าตีซ้อนเกล็ดภายนอก
ครัวมีหน้าต่างสามด้าน ผมได้หน้าต่างเก่ามาจากร้านไม้เก่าชุดละไม่กี่ร้อยบาท ส่วนประตูลุงเชื่อมเหล็กให้ใช้ลำแพนอัดกรุฝาประตูครับ
หลังจากตีฝาด้านนอกแล้ว ผมเอาแผ่นฉนวนกันความร้อนขนาด 5 มม. ตัดแปะกาวติดที่ฝาครัวทุกด้านเพื่อป้องกันความร้อนจากภายนอก ก่อนที่จะกรุฝาด้านในด้วยลำแพนอัด ลำแพนอัดเป็นลำแพนที่ชุบน้ำยากันมอดมาแล้ว แต่เพื่อความไม่ประมาท ผมทาเชลไดรท์อีกรอบทั้งสองด้าน
จากนั้นขึ้นโครงเคาเตอร์ ผมใช้ไม้เต็ง 1×1 นิ้ว ขึ้นเป็นโครง เพื่อติดซิงค์ล้างจาน ตัวเคาเตอร์ใช้กระดานไม้เต็งหน้า 6 เซาะรางลิ้นตี และใช้ตีบริเวณฝาเหนือซิงค์ล้างจานด้วย เคาเตอร์ยาวตลอดแนวเหลือพื้นที่ด้านขวาไว้ 60 ซม. สำหรับใส่ตู้เย็น ซึ่งผมยังไม่ได้ซื้อเลย ปกติที่บ้านไม่เคยมีตู้เย็นกับเขา
.
จากนั้นลุงก็กรุฝาด้วยลำแพนอัดในครึ่งบนของฝา ส่วนครึ่งล่างเป็นฝาสมาร์ทบอร์ดที่เหลือมาจากเรือนโคราชน้อย ทาสีย้อมไม้ Wood stain ให้วัสดุที่เป็นไม้ทั้งห้อง
สำหรับเตา เป็นเตาแก๊สธรรมดา ถอดมาจากครัวบ้านแม่ (แม่จะย้ายครัวมาครัวใหม่) ผมออกแบบให้ถังแก๊สอยู่นอกครัว เจาะรูร้อยสายแก๊สเข้ามาภายใน จะได้ไม่เกะกะพื้นที่
จากนั้นลุงก็ปูกระเบื้อง กระเบื้องเป็นกระเบื้องลายไม้ราคาไม่แพง ไปได้มาจากห้างวัสดุสีขาวเหลืองตารางเมตรละ 189 บ. ก็เลยจัดมาซะ 7 ตารางเมตร เต็มพอดี กาวยาแนวเหลือจากห้องน้ำ ถุงเดียวยังไม่หมดเลย
.
หลังคาเป็นเมทัลชีทเคลือบฉนวนมาแล้ว เพราะอยากให้ครัวเย็นที่สุดตอนกลางวันครับ เผื่อคุณยายมานั่งเล่นนั่งทานข้าว จากนั้นก็เดินระบบไฟฟ้า แล้วก็ไปซื้อตู้เย็นมาใช้ ได้ขนาด 6.2 คิวมาหลังหนึ่ง
ภาพเต็มๆ ครับ
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
.
มองจากใต้ถุนเรือนใหญ่ก็จะเจอเรือนโคราชน้อย
มุมมองทั้งหมด จะเจอเรือนแมวก่อนเป็นอันดับแรก ถัดมาด้วยครัว ด้านทิศตะวันออกมีต้นมัลเบอร์รีบังแสงแดดยามเช้าได้พอสมควร ออกผลให้กินได้มาได้ปีนึงแล้ว
เบ็ดเสร็จก็หมดงบประมาณไปราว ๆ 45,000 บ. รวมค่าตุ้เย็น ค่าซิงค์ ค่าโต๊ะ ครับ
เป็นครัวไทยบ้านนอกนะครับ บางสิ่งบางอย่างอาจไม่เนี๊ยบเป๊ะ แต่พออยู่ได้ครับ
หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับทุกท่านนะครับ
ทานข้าวเย็นกับผมครับ
ที่มา : Apple Devil .