ความต้องการพลังงานไฟฟ้าในปัจจุบันมีปริมาณที่สูงมากขึ้น ทำให้การผลิตไฟฟ้าเพื่อแจกจ่ายนั้นเริ่มไม่เพียงพอต่อความต้องการ
ประเทศไทยจึงต้องหาวิธีในการเพิ่มพลังงานให้เพียงพอ ไม่ว่าจะเป็นการซื้อพลังงานจากประเทศเพื่อนบ้าน หรือการสร้างโรงผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติม แต่วิธีเหล่านี้อาจจะสิ้นเปลืองงบประมาณมากขึ้นกว่าเดิม
ด้วยสาเหตุนี้จึงมีการมองหาพลังงานทางเลือกที่ประหยัด และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม โดย “พลังงานแสงอาทิตย์” เป็นทางเลือกที่กระทรวงพลังงานจะนำมาเป็นวิธีนำร่องในการเพิ่มแหล่งพลังงานสะอาดให้กับเมืองไทย ซึ่งมีสภาพแดดจัดตลอดทั้งปี ซึ่งจะเปิดโดอกาสให้ประชาชนทั่วไปมีส่วนร่วมด้วย
นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงโครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน” ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ว่า จะเริ่มนำร่องโครงการที่ประชาชนทั่วไปที่เป็นเจ้าของมิเตอร์ ประเภทบ้านที่อยู่อาศัย สามารถติดตั้งแผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ที่บ้านของตัวเองได้
แผงเซลล์ผลิตไฟฟ้าด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งนั้น จะเชื่อมโยงกับระบบไฟฟ้าของประเทศ และขายผลผลิตไฟฟ้าส่วนเกินความต้องการใช้เข้าสู่ระบบได้ในขนาดการติดตั้งประมาณ 100 เมกะวัตต์/ปี เป็นระยะเวลา 10 ปี โดยจะเริ่มรับจดทะเบียนได้ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2562 เป็นต้นไป โดยมีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้…
หลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าภายใต้โครงการ “โซลาร์ภาคประชาชน”
คุณสมบัติผู้เข้าร่วมโครงการ
1. บุคคลหรือนิติบุคคลที่เป็นเจ้าของเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า
2. ผู้ที่มีเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้าประเภทที่ 1 ตามประกาศอัตราค่าไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ไม่เกิน 10 KW ต่อครัวเรือน
เป้าหมาย และปริมาณการรับซื้อรวม 100 เมกะวัตต์
1. พื้นที่การไฟฟ้านครหลวงรวม 30 เมกะวัตต์
2. พื้นที่การไฟฟ้าส่วนภูมิภาครวม 70 เมกะวัตต์
เงื่อนไขในการพิจารณา และข้อยกเว้น
การพิจารณาแบบเรียงลำดับก่อนหลังตามความพร้อม (First come First served) โดยจะยึดถือวันและเวลาที่ได้รับแบบคำขอที่มีความครบถ้วนสมบูรณ์ของเอกสารหลักฐานที่กำหนดเป็นสำคัญ
ราคารับซื้อ
ราคารับซื้อไฟฟ้าส่วนเกินในอัตราไม่เกิน 1.68 บาท/หน่วย ระยะเวลารับซื้อ 10 ปี
ทั้งนี้ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้แนะนำว่าโครงการโซลาร์ภาคประชาชนนั้นถูกออกแบบให้ประชาชนติดตั้งเพื่อผลิตไฟฟ้าใช้เองเป็นลำดับแรก หากมีไฟฟ้าส่วนที่เหลือค่อยขายเข้าระบบจึงจะคุ้มค่าการลงทุน ภายใน 7-10 ปี
ที่มา : greennetworkthailand, energynewscenter .