สำหรับแพทย์ที่เรียนจบมาแล้ว ก็คงจะหลีกเหลี่ยงไม่ได้ที่ต้องเดินทางไปรับราชการตามต่างจังหวัด เพื่อทำงานใช้ทุนให้กับโรงพยาของภาครัฐ และจำเป็นที่จะต้องพักอาศัยอยู่ในบ้านที่ทางเจ้าหน้าที่จัดไว้ให้ บางคนก็โชคดีได้บ้านที่มีสภาพค่อนข้างใหม่ แต่บางคนก็อาจจะต้องทนกับสภาพ บ้านทรุดโทรมเก่าแก่ มีอายุการใช้งานกว่า 10 ปี
ดังเช่น ศิลป์ ชินศิรประภา ที่ต้องเดินทางไปใช้ทุนให้กับโรงพยาบาลในต่างจังหวัด และต้องพักอาศัยอยู่ในบ้านราชการที่มีอายุกว่า 30 ปี ทั้งเก่าทั้งโทรม แต่แล้วเขาก็ตัดสินรีโนเวทบ้านหลังนี้ ให้กลายเป็น บ้านสองชั้นสไตล์โมเดิร์น สวย น่าอยู่ แถมยังมีพร้อมทั้งความสะดวกสบาย ลบภาพบ้านเก่าๆ ไปจนหมดสิ้น ผลที่ได้จะเป็นอย่างไร ต้องไปติดตามกันค่ะ
รีโนเวทบ้านพักโรงพยาบาลชุมชนให้น่าอยู่ด้วยฝีมือทันตแพทย์
(โดย Silapa Junior)
ถ้าใครรู้จักผม จะสามารถบอกได้โดยไม่ต้องคิดเลยว่า ผมเป็นคนไม่ติดบ้านแม้แต่น้อย วันสุดท้ายที่ขลุกตัวอยู่ในบ้านทั้งวันน่าจะผ่านมาแล้วอย่างน้อย 3-4 ปี แต่ถึงอย่างนั้น การมีที่อยู่ดีๆ พักผ่อนสบาย ก็ยังคงเป็นปัจจัยที่ผมคำนึงถึงเป็นหลัก
สิ่งที่ผมกังวลมมากเป็นอันดับแรกๆ เมื่อได้ต้องเดินทางมารับราชการ ใช้ทุนเป็นหมอฟันอยู่ที่ต่างจังหวัด คือ ‘เราจะอยู่ได้มั้ยวะ?’ อยู่ในที่นี้ คือการอยู่อาศัยในที่พักที่โรงพยาบาลจัดไว้ให้ เพราะจากประสบการณ์และเสียงเล่าลือ ร่ำว่าจะอยู่ระยะยาวไม่ได้แน่นอน (ฮา) ตามปกติแล้วที่พักที่โรงพยาบาลมี จะเป็นบ้านพักข้าราชการสร้างด้วยไม้และปูนขนาดสองชั้น อายุมากกว่า 30 ปี หรือยุคใหม่หน่อยก็จะเป็นห้องพักในแฟลตที่ใช้แผนผังเดียวกันทั้งประเทศ เรามักจะต้องไปแทนหมอที่ย้ายหรือลาออก อาจได้อยู่กับเมทหรืออยู่เดี่ยวก็ได้ ในกรณีผมคือได้แบบบ้านพัก ซึ่งโดยมากจะแปลว่าฝันร้ายมันเยือนแล้ว เพราะความเก่าแก่ของบ้านแปลว่ามีความพังที่ต้องได้รับการซ่อมแซม และพื้นที่ขนาดใหญ่ แปลว่ายากแก่การดูแลทำความสะอาด
ตอนแรกก็ยอมรับเลยว่าหนักใจเหมือนกัน ที่จะต้องปรับปรุงบ้านทั้งหลังด้วยความรู้เทียบเท่าศูนย์ ต้องขอบคุณความใจดีของทางโรงพยาบาลที่เปิดอิสระให้ผมตกแต่ง ปรับปรุงบ้านพักได้ตามอิสระ ภายใต้กฎสากลข้อเดียว คือต้องไม่ปรับปรงโครงสร้างของบ้าน และความไม่น่าอภิรมย์ของห้องน้ำ ที่ผลักดันให้ได้ทำโปรเจกนี้อย่างจริงจัง
ก่อนโชคชะตาจะกำหนดให้ผมได้มาเป็นหมอฟัน ในสมัยมัธยม ผมเคยอยากจะเข้าเรียนคณะสถาปัตย์ด้วยเหตุผลหลักข้อเดียว เพราะอยากจะมีบ้านของตัวเอง ที่ออกแบบเอง แม้ว่าโชคชะตาและการตัดสินใจในตอนนั้นจะพาผมมาไกลจากคณะในฝันเสียไม่เห็นฝุ่น ก็ตลกดีเหมือนกัน ที่พอเรียนจบทันตแพทย์มา ดันจับพลัดจับผลู ต้องมา‘ทำบ้าน’ อย่างที่เคยตั้งใจไว้ เอาล่ะ ลองดูสักตั้ง มันจะหัวก้อยต้องเสี่ยงกัน เย้ อิเยอิเย
ถึงบ้านเราจะเก่า แต่ก็เป็นโชคดีที่โครงสร้างหลัก ยังดีอยู่ ไม่มีปัญหาน้ำรั่วซึม พื้นทรุด หรือสัตว์บุก หลังจากนอนในบ้านเปล่า สไตล์เสื่อผืนหมอไปในอาทิตย์แรก ผมก็กลับกรุงเทพฯ ไปจัดการไปขนข้าวของเครื่องใช้ส่วนตัว ซื้อของใช้จำเป็นและเฟอร์นิเจอร์ โดยมีคุณสมบัติที่ต้องขนย้ายง่าย ราคาไม่สูงจำเกินไป แน่นอนครับว่าผมเลือกอิเกีย ผมเข้าใจในประโยชน์ของ flat pack ที่แบรนด์ใช้เป็นจุดขายเข้าเต็มเปา เพราะทั้งหมดสามารถยัดเข้ารถตู้ได้ ประทับใจมาก สำหรับใครที่เริ่มย้ายมาอยู่คนเดียว หรือต้องไปอยู่ที่ไหนแบบชั่วคราว อยากตกแต่งห้องแบบง่ายๆ งบเอื้อมถึง ผมแนะนำอิเกียเลยครับ
มีคนแนะนำว่าสิ่งที่จะทำให้บ้านใหม่ขึ้นและควรทำเป็นอันดับแรกๆ ก่อนที่จะไม่มีโอกาส คือการทาสีใหม่ ผมจึงจัดการไปที่โฮมโปร ซื้อสีมา DIY ทาบ้านใหม่ด้วยตัวเอง ความสนุกอยู่ที่การเลือกสี ผมพึ่งจะรู้ว่าสมัยนี้เขาสามารถ customize สีที่ต้องการได้แล้ว เพียงแค่จิ้มเลือกสีจากแคตตาลอก เครื่องก็จะผสมสีออกมาให้เรา ผมเลือกสีขาวสำหรับห้องนอนชั้นบน และสีฟ้าหม่นและขาวอมเขียวสำหรับด้านล่าง ถึงผลจะออกมาไม่ถูกใจสักเท่าไร แต่ก็ถือว่าได้รู้อะไรหลายอย่างเหมือนกัน
DIY TIPS
- อย่าดูถูกงานนี้เชียว การทาสีนั้นใช้เวลาและแรงกายพอตัว เพราะผนังห้องจะมีส่วนที่อยู่สูง ยากแก่การทาด้วย อย่างผมเอง ขนาดช่วยกันทากับเพื่อนอีกคน ก็ยังทากันได้แค่ห้องนอนครับ ข้างล่างเลยต้องจ้างช่างมาทาแทน
- อย่าลืมเตรียมเสื้อผ้าที่เลอะได้ และเก็บขอที่เลอะไม่ได้ออกให้เรียบร้อย ปูพื้นด้วยหนังสือพิมพ์ใต้บริเวณที่ทาด้วย ใครจะไปคิดว่าลูกกลิ้งทาสีจะทำสร้างละอองสี กระเด็นไปทั่วได้ แต่ไม่ต้องห่วงนะครับ ถ้ากระเด็นลงพื้นจริง ให้รอสีแห้งแล้วใช้กระดาษทรายเบอร์ละเอียดขัดออก
- หากจะทาสีอ่อนเช่นสีขาว ต้องทาสีรองพื้นก่อนหนึ่งชั้น
- ถึงจะเป็น ‘สีสำหรับทาภายใน’ กลิ่นสีก็ยังสามารถทำให้คุณเวียนหัวได้ นี่จึงเป็นอีกสาเหตุที่เราควรทำก่อน เพราะต้องรออีกหลายวัน กว่ากลิ่นจะจางลง
- สีตอนอยู่ในถังกับตอนที่ทาลงไปบนผนังหลังแห้ง มักจะไม่เหมือนกัน ควรลองทาลงบนผนังเล็กน้อยก่อน แล้วดูว่าถูกใจไหม
นอกจากนี้ผมก็ได้ไปเลือกซื้อกระเบื้อง และ สุขภัณฑ์ เป็นครั้งแรก จากนั้นก็ให้ช่างมาช่วยทำห้องน้ำ (สมัยนี้ไม่จำเป็นต้องแงะกระเบื้องเก่าออกมาแล้ว สามารถใช้ปูนกาวฉาบแล้วปูกระเบื้องใหม่ทับลงไปได้เลย) เปลี่ยนมุ้งลวดที่เป็นรูและติดตั้งเหล็กดัดที่โดนตัด และที่สำคัญคือทำพื้นใหม่ เรื่องพื้นนี่ รู้สึกว่ายากเหมือนกัน เพราะต้องใช้เงินเยอะ และเราก็ไม่อยากปูพื้นด้วยเสื่อน้ำมัน สุดท้ายจึงจบลงที่ใช้ปูนสำหรับตกแต่งหรือที่เรียกว่าปูนลอฟท์ ซึ่งให้ผลลัพธ์ออกมาใช้ได้เลย ถ้าใช้ปูนทั่วไปมาขัดมัน ราคาจะถูกและออกมาสวยกว่านี้ แต่จำเป็นต้องใช้ความหนาพอสมควร กันปูนจะแตก ซึ่งจะกลายเป็นว่าปิดประตูบ้านไม่ได้แทน (ฮา)
เมื่อโครงสร้างใหญ่ เราถูกซ่อมแซมแปลงโฉมเรียบร้อย ก็ถึงขั้นตอนใส่เฟอร์นิเจอร์และของตกแต่ง เราได้พบว่าตัวเองมีความสุขกับการนั่งต่อเฟอร์นิเจอร์ทีละชิ้นๆ นึกภาพจัดวางไว้ในหัวว่า ของชิ้นไหนเราต้องไปอยู่ตรงไหน ให้ห้องออกมาดูสวย น่าอยู่ แล้วค่อยๆ วางของแต่ละชิ้นลงไป
พอมีโต๊ะ ตู้ เตียง เรียบร้อยแล้ว ผมลองทำให้ห้องรู้สึกเหมือนเป็นห้องของเรามากขึ้น โดยการใส่ของของเราเข้าไป ผมขนหนังสือที่ตัวเองชอบมาหลายสิบเล่ม ฟิกเกอร์การ์ตูนน่าตาคิกขุมาใส่แซมลงไป ทำให้ห้องดูสมบูรณ์ยิ่งขึ้น
ารมีบ้านและได้ทำบ้านในเวอร์ชั่น free-trial (แต่เสียตังค์) นี้ ถือเป็นของขวัญชิ้นใหญ่ระหว่างใช้ทุนที่ผมโชคดีได้รับ แปลกมากที่ความสุขมันเกิดขึ้นในทุกขณะอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน รู้สึกมีความสุขและภูมิใจกับความสำเร็จเล็กๆ นี้จริงๆ ครับ
ประสบการณ์นี้ได้ย้ำให้ผมตระหนักว่า เมื่อได้ทำในสิ่งที่เราชอบ ขีดความอดทนเราจะมาขึ้นโดยอัตโนมัติ แรงที่อยากจะพัฒนาและเรียนรู้ก็ด้วย ต่อไปถ้ามีโอกาสผ่านเข้ามาในชีวิต อาจจะต้องพิจารณาใช้ความชอบ-ความอยากเลือก มากกว่าเหตุผล หรือความลงตัว-เหมาะสม แล้วผลลัพธ์ที่ออกมาอาจจะทำให้เราประหลาดใจก็เป็นได้
ผมได้เก็บคำพูดของพี่คนหนึ่ง ที่เล่าถึงการตกแต่งดูแลบ้านพักข้าราชการ โดยส่วนใหญ่แล้ว พวกเราจะมองว่านี่เป็นเพียงที่พักชั่วคราว เม็ดเงินและน้ำแรงที่เราต้องลงไปในสิ่งที่ไม่ใช่สมบัติของตัวเอง ดูจะไม่คุ้มเอาเสียเลย ทนอยู่ในสถาพที่ ‘พออยู่ได้’ ไปเสียดีกว่า แต่ถ้าลองปรับวิธีคิดดูสักนิด การช่วยกันปรับปรุง ซ่อมแซม เล็กๆ น้อยๆ น่าจะไม่เหนือบ่ากว่าแรงของใคร นอกจากจะได้ใช้ประโยชน์กับตัวเองแล้ว ในระยะยาว เมื่อบ้านส่งต่อไปจากรุ่นสู่รุ่น บ้านก็จะไม่โทรม คุณภาพชีวิตของรุ่นน้องในอนาคตก็จะดีไปด้วย (แต่ต้องทดไว้ในใจด้วยนะครับ ว่ามาตรฐานของคนเราไม่เหมือนกัน บางคนเขาก็อยู่ง่ายกินง่าย อยู่ได้กันจริงๆ)
“Your home should tell the story of who you are, and be a collection of what you love brought together under one roof.”
เนต เบอร์คัส อินทีเรียดีไซน์เนอร์ชาวอเมริกันได้พูดประโยคที่ผมสุดแสนจะเห็นด้วยนี้ไว้ หวังว่าเรื่องราวของผม จะไปแอบไปสะกิดต่อมแต่งบ้านของทุกคนเข้าสักหน่อย อยากจะชวนทุกคนลองมาทำกิจกรรมนี้ดู แล้วรับรองว่า สิ่งที่ได้กลับมาต้องมากกว่าความสะดวกสบายในบ้านอย่างแน่นอนครับ
Side notes
ไอเดียของชื่อเรื่อง มาจากวีดีโอที่ผมเคยดู ยูทูบเบอร์คนนั้นเขาพาคนดูไปทัวร์บ้านที่เขาพึ่งย้ายออกมาอยู่เอง ภายใต้ชื่อวีดีโอว่า ‘My Crib’ หลังจากไปเสิร์จดู คำว่า Crib แปลตรงตัวได้ประมาณว่า ‘เปลเด็ก’ แต่อิงตามบริบทฝรั่ง น่าจะเอามาใช้เป็นแสลงกันในทำนอง ที่พักเจ๋งๆ แบบไม่เป็นทางการ อารมณ์ ‘ฐานทัพลับ’ อะไรแบบนี้ ก็เฮ้ย เจ๋งดี ขอเลียนแบบเอามาตั้งชื่อเป็น My crib project ก็แล้วกัน
ราคาของที่จดบันทึกไว้
โต๊ะกลม SALTHHOMEN 1,190 บาท, ชั้นวางของ ALBERT 690 บาท, เก้าอี้นั่ง FROSTA 345 บาท, โต๊ะไม้สน INGO 2,290 บาท, โต๊ะไม้ไผ่ข้างเตียง NESNA 399 บาท, โคมไฟ NOT 590 บาท, เตียงและผ้านวมผ้าปูที่นอน 5,000 บาท, ผ้าม่านและราวติดตั้ง 1,200 บาท, เก้าอี้พนัก TEODORES 750 บาท, บีดส์โซฟา MUJI ลดราคาเหลือ 3,900 บาท, ประตูมุ้งลวดเหล็กดัด 3,400 บาท, ซ่อมเหล็กดัด 1,900 บาท, ติดตั้งมุ้งลวดใหม่ 900 บาท, กระจกบานเลื่อน 5,600 บาท, ค่าทาสี ปูกระเบื้อง ติดตั้งสุขภัณฑ์ และลงปูนเปลือยที่พื้น 12,800 บาท
รวม 40,954
ที่มา : Silapa Junior .