บ้านหลังเก่าหลังหนึ่งที่ถูกสร้างขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ถูกรื้อถอนทิ้งไปเนื่องจากเจ้าของที่ดินต้องการสร้างตึกใหม่ แต่ชายหนุ่มคนหนึ่งต้องการอนุรักษ์ไว้ จึงได้ทำการชุบชีวิตบ้านจากยุคสงครามโลกหลังนี้ขึ้นมาอีกครั้ง…
วันนี้ ในบ้าน จะพาเพื่อนๆ ทุกคนไปชม ขั้นตอนการชุบชีวิตบ้านเก่าจากช่วงสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของคุณ Siriwat Tor Mungkalarungsi เป็นบ้านเก่าอายุราวๆ 80 ถึง 100 ปี ใช้วิธีการรื้อโครงสร้างเดิม แล้วย้ายมาปลูกยังที่แห่งใหม่ โดยยังคงเอกลักษณ์ของบ้านหลังเดิมไว้ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสไตล์ ขนาดตัวบ้าน และการออกแบบพื้นที่ใช้สอยภายใน เรื่องราวจะเป็นยังไง ตามมาชมกันเลยค่ะ
ชุบชีวิต “บ้านยุคสงครามโลก” บ้านเก่าอายุร่วม 100 ปี ย้ายมาปลูกใหม่ แต่ยังคงสไตล์ดั้งเดิม
(โดยคุณ สมาชิกหมายเลข 1415794)
สวัสดีครับ เรื่องราวคราวนี้ คงต้องเริ่มจากตอนที่ผมกำลังเดินผ่านบ้านเก่าๆ หลังหนึ่งในซอยตรอกศิลป์ ถนนราชดำเนินกลาง กทม.ของเราๆ กันนี่เอง
จริงๆ แล้วบ้านหลังนี้ก็อยู่ในตรอกเดียวกับบ้านของผม เพียงแต่ว่ามันอยู่ในตรอกแยกที่ลึกๆ เข้าไป ปกติเวลาผ่านไปผ่านมาผมก็จะแอบชำเลืองมองความงามในความโทรมของมันอยู่แล้ว เพียงแต่คราวนี้มันมีอะไรเปลี่ยนไป
คราวนี้หลังคามันหายไปครับ และมีคนงานสี่ห้าคนกำลังขมักเขม้น ปีนป่ายรื้อถอนบ้านไม้หลังนี้ลงมากองๆ ไว้ที่พื้นดิน
ผมจึงรีบบึ่งเข้าไปเลียบๆ เคียงๆ ทีมช่างก่อสร้าง ในระหว่างนั้นก็ภาวนาให้เป็นเพียงแค่การรื้อซ่อมหลังคา ยังไม่อยากให้ บ้านโบราณแถวนี้ต้องลาจากชุมชนเก่าๆ อย่างตรอกศิลป์ไปอีกหลัง และทั้งชุมชนก็จะลาจากหายไปเฉกเช่นเดียวกับชุมชนป้อมมหากาฬ
แต่โชคไม่เข้าข้างครับ ทีมช่างบอกว่าเจ้าของที่ดินต้องการปลูกสร้างตึกใหม่ จึงให้มารื้อถอนโดยแลกกับการยกไม้ให้ ซึ่งปกติแล้วก็คงนำไปแยกขาย แถวๆ อยุธยา ด้วยความเสียดายมาก ผมจึงเสนอทีมช่างไปว่า ถ้าอย่างนั้นผมขอเหมาซื้อต่อได้ไหม จะได้ไม่ต้องลำบากขนไปๆ มาๆ
เจรจากันไปสักพักก็ตกลงกันที่ราคา XXX,XXX บาท หลังจากนั้นผมจึงสวมวิญญาณเป็น Foreman ขออนุญาตไปยืนกำกับทีมช่าง จดระยะแปลน และถ่ายรูปอาคารไว้ให้มากที่สุด เพื่อให้สามารถนำอาคารกลับมาประกอบใหม่ ให้ง่ายและเหมือนเดิม
โดยที่ในตอนนั้นก็ยังไม่รู้เลยว่าจะเอามันไปปลูกที่ไหน แต่ในใจก็นึกเพียงว่าต้องรักษาอาคารเอาไว้ก่อน อย่างอื่นค่อยว่ากัน การเดินออกไปเซเว่นหน้าปากซอยในวันนั้น จึงได้บ้านเก่าๆ ติดมือกลับมาด้วยกันนั่นเอง
และนี่ก็คือรูปบางส่วนที่ถ่ายมาตอนรื้อบ้านครับ เสียดายไม่มีภาพตอนยังไม่รื้อ
เพราะเราก็ไม่นึกว่าจะมาเจอมันในสภาพนี้ ลายฉลุที่เหลืออยู่พอจะบอกแนวสถาปัตย์ของตัวบ้านได้ว่ามีอิทธิผลของ ศิลปะ Art Deco ยุค 1930s 1940s ครับ
.
ราวบันได ก็เรียบๆ ตามแบบฉบับ Art Deco ครับ
.
ห้องโถงของบ้าน มีการรื้อน้ำไม้จากส่วนอื่นๆ ของบ้านมากันห้องเพิ่มตามประโยชน์ในสอยที่เปลี่ยนไปภายหลัง
แล้วไม่กี่วันต่อมา ทีมช่างก็ขนไม้จากบ้านทั้งหลังมาส่งให้ที่โกดังเก็บของของผม ที่ อ.บ้านโป่ง ราชบุรี ครับ พร้อมกับทิ้งท้ายไว้กับคำถามว่า “บ้านไม้เก่าๆ ซื้อมาทำไม ไม่กลัวผีหรือ”
ไอ้เราก็นึกในใจ “อ้าว แล้วเวลาที่พี่ช่างเอาไปแยกขายนี่ มันทำให้ผีหายไปได้ด้วยหรือ ถ้ามันมีอยู่จริง” แต่ก็ได้นึกคำถามไว้ในใจและยิ้มสู้ไปพร้อมกับตอบว่า “ผมชอบและเสียดายบ้านครับ เลยซื้อมา” 555
หลังจากนั้นเกือบสองปีที่บ้านหลังนี้ก็ถูกเก็บลืมๆ ไว้ในโกดัง
จนวันหนึ่งก็มีคนเสนอที่ดินริมแม่น้ำแม่กลองใน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี พร้อมๆกับโปรเจคที่พักและร้านอาหาร นั้นก็ทำให้ผมมีโอกาสที่ดีที่จะนำบ้านหลังนี้กลับมาชุบชิวิตอีกครั้งหนึ่ง
จากการทำการบ้านคร่าวๆ ก็พอจะเดาอายุตัวอาคารได้ว่าน่าจะถูกสร้างขึ้นในยุคที่ศิลปะ Art Deco เฟื่องฟูมาสักระยะหนึ่งแล้วในประเทศไทย จากราวๆ สมัยรัชกาลที่ 7 ผ่านยุคของคณะราษฎร มาจวบจนสงครามโลกครั้งที่สอง ตั้งแต่ปี 2468 ถึง 2488 เป็นระยะเวลาราวๆ 20 ปี
ซึ่งนอกเหนือจากงานสถาปัตย์ที่ช่วยให้เดาช่วงเวลาอายุของบ้านคร่าวๆ ได้แล้ว ก็ยังมีอีกสิ่งหนึ่งที่ทำให้สามารถคาดเดาปีทีสร้างให้แคบลงได้อีก นั่นก็คือ หน่วยวัดที่ใช้ในการสร้างบ้านหลังนี้เป็นระบบ Imperial Units ที่วัดได้ออกมาเป็น ฟุตและนิ้ว ซึ่งก็เท่ากับว่ามีโอกาสเป็นไปได้สูงมากที่บ้านหลังนี้จะถูกสร้างขึ้นในสมัยของรัชกาลที่ 7
ก่อนที่คณะราษฎรจะเปลี่ยนแปลงการปกครอง และออกนโยบายนำพาประเทศเข้าสู้ความทันสมัยอย่างเร่งด่วน (รวมไปถึงการเน้นย้ำให้ประชาชนใช้หน่วย ชั่ง ตวง วัดที่เป็นสากลอย่างระบบ SI, เมตร, ที่เราใช้กันแพร่หลายในทุกวันนี้)
บรรยากาศสมัยนั้นก็พอจะสัมผัวคร่าวๆ ได้จากภาพยนต์เรื่อง โหมโรง เป็นต้นนะครับ ว่าไม่ใช่แค่งานสถาปัตย์ แต่ยังรวมไปถึง ดนตรี กีฬา อาหาร ต่างๆนานา ที่ภาครัฐอย่างให้ประเทศพัฒนาอย่างก้าวกระโดด
ข้อมูลต่างๆเหล่านี้เอง ช่วยให้เราพอจะสรุปคร่าวๆได้ว่า บ้านหลังนี้น่าจะถูกสร้างขึ้นราวๆ 2468 ถึง 2475 ซึ่งปัจจุบันก็เฉียดๆ ใกล้ 100 ปีเข้าไปแล้ว
เริ่มขั้นตอนการสร้างบ้าน
ผมชักชวนให้ทีมช่างฝีมือเอกของผม มาช่วยกันขนย้ายไม้ออกมาคัดแยกจากโกดัง จัดหมวดหมู่วัดระยะให้แน่ชัดอีกครั้งหนึ่ง จากนั้นก็เริ่มตอกเสาเข็ม และทำรากฐานให้แก่ตัวบ้านครับ
.
เมื่อทำรากฐานเสร็จ
เราก็เริ่มนำชิ้นส่วนของคานและเสาเดิมของบ้านมาประกอบเข้าตำแหน่งเดิมครับ งานช่วงนี้ไม่ยากเท่าไร เพราะจริงๆ แล้วมันก็เหมือนการเล่นตัวต่อ นำไม้มาขันน็อตให้แน่นประกอบเข้าด้วยกันตามเดิม
.
แล้วก็ถึงโครงสร้างหลังคาครับ
วิวด้านหลังเป็นแม่น้ำแม่กลองและทิวต้นสน
ติดฉนวนกันความร้อน
ถึงแม้จะเป็นบ้านโบราณ แต่เพื่อประโยชน์ใช้สอยและความอยู่สบายตามยุคสมัยใหม่ จึงขออนุญาตใส่ฉนวนกันความร้อนเพิ่มเข้าไป ณ ที่นี่ครับ
กระเบื้องหลังคาเก่าไม่สามารถใช้ได้อีกต่อไป
ผมจึงเลือกใช้กระเบื้องลายว่าวของตราช้าง รุ่นไอยรา ครับในที่นี้ผมเลือกที่จะซ่อมแซมบ้านแบบร่วมสมัย จึงมีการเปลี่ยนวัสดุบางตัว เช่นกระเบื้องมุงหลังคาให้สามารถใช้งานได้จริงและดูแลรักษาง่ายขึ้นโดยไม่เปลี่ยนหน้าตา อารมณ์ของตัวอาคารมากไปนักครับ
เมื่อมุงเสร็จก็ออกมาหน้าตาแบบนี้
เมื่องานหลังคาเสร็จเรียบร้อยดี เราก็สามารถนำพื้นกลับมาปูได้อย่างสบายใจ ไปกลัวแดด กลัวฝนอีกต่อไป
ระหว่างปูพื้นไป ก็พักอ่านข่าวล่าสุดของหนังสือพิมพ์ฉบับวันนี้เสียก่อน
การที่เราพยายามจดบันทึก และถอดประกอบอาคารเก่ามาอย่างดี ทำให้การนำมาประกอบใหม่นั้นง่ายและรวดเร็วรวมทั้งประหยัดค่าแรงช่าง ไม่ต้องมานั่งตัดๆ ต่อๆ มากนัก
มาถึงจุดนี้เวลาก็ผ่านไปประมาณสองเดือนกว่าๆ ได้แล้วครับ
เมื่อพื้นเสร็จ ก็ไปต่อกันที่งานตั้งบันไดบ้านครับ บันไดตัวนี้ถอดยกชุดมาตั้งแต่แรกนำมาประกอบใหม่จึงรวดเร็วทันใจ แค่หาระดับเท่านั้นเอง
.
ระหว่างนั้นช่างอีกส่วนหนึ่งก็ทำการตีไม้ฝาพร้อมกับใส่ฉนวน
และใส่ลายฉลุเดิมเข้าที่ สังเกตลายฉลุของบ้านยุคนี้จะเป็นรูปทรงเลขาคณิตเสียมากกว่าที่จะเป็นลายกนกนะครับ ซึ่งเป็นลักษณะเด่นของการเปลี่ยนผ่านเข้าสู้ยุค Art Deco แล้ว ยุคนี้ความสวยงามในโครงเงาของตัวอาคารเริ่มมาก่อนการประดับประดาที่ฟุ้งเฟ้อ ครับ
การสังเกตการตีฝาไม้ซ้อนกันลายแบบนี้ เป็นอีกเอกลักษณ์หนึ่งของความนิยมในยุคนั้นครับ
แล้วช่างก็นั่งวัดนั่งเทียบลายฉลุที่ถอดมาใส่ใหม่อีกครั้งหนึ่ง
.
ผ่านไปราวๆ สามเดือน
ก็ประกอบตัวบ้านเสร็จเรียบร้อยครับ ออกมาไปอารมณ์ประมานนี้
บ้านยุคนี้จะมีช่องแสงเล่นลายเรขาคณิตเป็นหลัก ครับ
เมื่องานโครงสร้างหลักเริ่มเสร็จ ภายในก็เริ่มลงงานสีครับ
ช่างก็จะทำการเก็บหัวตะปู ก่อนที่จะมีการขัดพื้น เพื่อเตรียมลงยูรีเทนเคลือบเงาไม้ครับ
.
.
การลงยูรีเทน ส่วนใหญ่ก็ประมาน สอง ถึง สามเที่ยวครับ
เมื่อเรียบร้อยก็จะได้พื้นเงาๆ โชว์เนื้อไม้แบบนี้
ในระหว่างนั้นก็ให้ช่างกระจะมาใส่ประจกที่ช่องแสงต่างๆ ของบ้านที่มีแตกไปบ้าง ยังใช้ของเดิมบ้างครับ
ลายกระจะที่ผมเลือกใช้เป็นลายที่สะท้อนความเป็นงาน Art Deco มองเผินๆเหมือนปลายพู่กันตวัดไปมาครับ ศัพท์เทคนิคตามร้านขายกระจกจะเรียกลายนี้ว่าลายเศรษฐีครับ ถ้าจะมีอีกลายหนึ่งที่เหมาะกับบ้านยุคนี้ก็คงเป็น ลายทุ่งนา เห็นได้ตามบ้านเก่าทางภาคเหนือบ่อยๆครับ
กระจกลายเศรษฐี
ช่างก็ใส่กระจกไป แต่เดิมคงเปิดโล่งรับลม แต่ตามยุคสมัยนี้ก็คงต้องติดแอร์ด้วยในบางห้องครับ แต่ก็เลือกลายกระจกที่ไปกันได้กับสถาปัตย์ในยุคนั้น
หลังจากนั้นก็เก็บสีภายนอกอาคารครับ
จากเดิมที่เป็นแบบนี้
ก็กลายมาเป็นแบบนี้ครับ
ผมเลือกโทนสีให้บ้านใหม่ ให้เข้ากับยุคสมัยปี 2019 โดยที่ยังให้ดูโล่งโปร่งด้วยตัวบ้านสีขาวหลังคาแดง กรอบวงกบประตูให้เป็นสีเนื้อไม้เพื่อให้ความรู้สึกอบอุ่น
สีของบานหน้าต่างเป็นสี Elegant Grey ทำให้ดูสง่า และสีของส่วนปูนทางด้านล่างเป็น Pencil Grey ครับ ให้ความรู้สึกนุ่มลึกทางปัญญา โดยรวมๆแล้วบ้านหลังนี้คงเป็นคนๆหนึ่งที่ สง่า อบอุ่นและมีการศึกษาที่ดีครับ เป็นการสะท้อนค่านิยมของคนยุค 1940s ออกมาไปในตัวด้วย
รูปตอนกลางคืนครับ ไฟสว่างแล้ว
หลังจากที่ตัวบ้านหลักเริ่มเสร็จ ก็ได้เวลาไขกุญแจเปิดพระคลังมหาสมบัติ
นำเฟอร์นิเจอร์ยุค 30s 40s ในโกดังที่ผมสะสมไว้นานแล้ว ออกมาอาบน้ำแต่งตัว พาขึ้นเรือนหอใหม่ครับ
อันนี้เป็นชุดโต๊ะกินข้าว พร้อมเก้าอี้ รูปทรงของเฟอร์นิเจอร์ยุคนี้จะเรียบๆ เน้นความงามที่โครงเงาของวัตถุ ความมน คุณภาพไม้และงานช่างมากกว่าลายฉลุมากๆ ที่นิยมในสมัยก่อนหน้านี้ครับ จริงๆแล้วยุค 30s 40s นี้หละที่โลกของเราก้าวเข้าสู่ยุค สมัยใหม่ Modern อย่างแท้จริง
ผู้คนเริ่มเชื่อว่า การละทิ้งวัฒนธรรม จารีต ประเพณีเก่าๆจากอดีต น่าจะทำให้อนาคตข้างหน้าสดใสขึ้น ดังนั้นลายละเอียดอะไรที่แสดงถึงรากเง้า วัฒนธรรมจึงถูกลดทอน ออกไปจากงานออกแบบจนเสียสิ้น ครับ
เจอตู้ โต๊ะอะไรตามตลาดนัดของมือสอง ถูกบ้าง แพงบ้างก้ซื้อเพิ่มเข้ามา เพื่อจัดชุดครัว
.
.
โดยปกติชุดครัวขนาดนี้ไม่รวมเครื่องใช้ไฟฟ้า ราคาตามห้างทั่วๆไปก็คงตกแสนกว่าบาทขึ้นไปจนถึงสามแสนกว่า แถวเป็นวัสดุสังเคราะห์และเทียมเสียเป็นส่วนใหญ่ แต่งานนี้ผมเลือกนำของมา Up Cycle ครับ ทั้งหมดออกมาอยู่ที่ 27,000 บาทถ้วนแถมยังได้เป็นงานไม้สักอีกทั้งหมดด้วย
สีแนว Pastel เขียว ฟ้า ชมพู ก็เริ่มเป็นที่นิยมมาขึ้นในช่วง 30s 40s นี้เองผู้คนเริ่มกล้าที่จะแหวกกฏออกไป ผมจึงเลือกกระเบื้องดินเผาลำปางสี Turquoise มากรุงบริเวณทำอาหารของห้องครับ
Mini bar แบบแนวข้างล่างนี้ก็เริ่มเป็นที่นิยม บรรเทาทุกข์คนคอแห้งมาจากสมัยนั้น จวบจนทุกวันนี้
ปล. อันนี้เอาโต๊ะเครื่องแป้งเก่ามาแปลงครับ
มาต่อกันที่ข้าวของเครื่องใช้ภายในครัวสักนิดครับ
ในเมื่อตั้งใจจะอยู่แบบร่วมสมัย เราก็ต้องมีความพิถีพิถันในการเลือกนิดนึงเพื่อให้เข้ากับบรรยากาศของบ้าน นอกจากเฟอร์นิเจอร์ที่เป็นรูปทรง Streamline แล้ว จานชาม ช้อนซ้อมก็ต้องให้ได้ยุคไปด้วย
วัสดุที่นิยมอย่างมากในยุคนั้นก็คือกะไหล่เงินครับ ถึงแม้ว่าช่วงเวลานั้นจะมีการคิดค้น Stainless Steel และการชุบโครเมี่ยมต่างๆกันมาสักระยะแล้ว แต่ต้นทุนการผลิตยังถือว่าสูงมากอยู่ และก็ยังไม่เป็นที่นิยมของตลาดเท่าไรนัก
ลุงๆ ป้าๆสมัยนั้นเขาจะบอกว่า Stainless Steel มันแสบตา! มองนานๆมันจ้า ดังนั้นก็เลยต้องจัดชุดกะไหล่เงินมาเสียหน่อยครับ
จะว่าไปนอกจากเหตุผลของความเงานวลของเงินที่ละมุนกว่า Stainless แล้ว ก็น่าจะเป็นเรื่องของการที่ยุคนั้นยังถือว่าเป็นยุค The Age of Plenty อยู่ ทรัพยากรโลกในสมัยนั้นยังมีอยู่อย่างเหลือเฝือ ประชากรโลกยังมีน้อย อะไรๆมันก็เลยมีราคาที่ไม่แพง และก็ไม่มีเหตุผลที่จะต้องรีบเปลี่ยนไปใช้วัสดุทดแทนใหม่ๆ
ซูมใกล้ๆครับ รูปทรงด้ามจับที่ได้อารมณ์ Art Deco เรขาคณิต จริงๆมีดซ้อมชุดนี้เป็นงาน 70s แต่รูปทรงมันได้ เราก็ใช้ไปครับ
มาต่อกันที่ห้องนั่งเล่นนะครับ
ตอนประกอบบ้านเสร็จตอนแรกสภาพห้องก็เป็นประมาณนี้
หลังจากนั้นก็ทำการเก็บงานสีทั้งที่พื้นและผนัง ห้องนี้ผมเลือกใช้สีผนังขาวตัดดำครับ เป็นแนว Black and White ที่นิยมกันในช่วงนั้น คนที่ทำให้แนวสีโทนนี้ได้รับความนิยมก็น่าจะมาจาก Coco Chanel เจ้าของ Brand Chanel นั้นแหละครับ เขามีอิทธิพลมากในสายงานออกแบบในยุคนั้น ไม่ใช่แค่เฉพาะเสื้อผ้า แต่งาน Interiors ก็ด้วย
เมื่องานสีเรียบร้อยดีแล้วก็ถึงคราว นำเฟอร์นิเจอร์เข้าบ้านครับ
พวกโต๊ะ ตู้ ผมจะเน้นไปที่งานจากยุค 30s 40s เป็นส่วนใหญ่ เพิ่มอาร์มแชร์ลายทางเข้าไปเพื่อให้ความรู้สึก หรูหรา ผู้ดี (แนวเส้นลายทางจากให้ความรู้สึกประมาณนี้ครับ)
.
สุดท้ายก็มีการนำหีบไม้ และหีบเหล็กมาตกแต่งตามมุมต่างๆของห้องด้วย
เพื่อเป็นการสะท้อนอารมณ์ของยุคนั้นว่า ปัจจัยสี่ ส่วนใหญ่จะถูกเก็บไว้มนหีบ พร้อมที่จะเคลื่อนย้ายหนีภัยเสมอ
โลกยุคนั้นเป็นโลกยุคที่เพิ่งผ่านสงครามมาแล้วรอบหนึ่ง และความตึงเครียดนานาชาติก็มีอยู่เรื่อยๆ ลัทธิชาตินิยมกำลังเฟื่องฟู ขึ้นเรื่อยๆ จึงเป็นที่มาว่าทำไมคนโบราณนิยมเก็บของไว้ในหีบครับ
ทางด้านหน้าบ้านก็เอาเฟิร์นมาแขวน เพื่ออัพเดท พ.ศ. ให้เข้ากับยุคสมัยนี้มากขึ้น
มาว่ากันต่อในส่วนของห้องนอน
ในใจผมอยากทดลองใช้สีดำทอง ในการตกแต่งห้องนี้ เพราะในฝั่งทางตะวันตกช่วงยุค 30s 40s สีนี้เป็นสีที่นิยมกันมากในระดับหนึ่ง เพราะมันให้ความรู้สึกที่เคร่งขรึม และหรูหราในคราวเดียวกัน จากห้องสภาพประมาณนี้
ก็ออกมาเป็นแบบนี้ครับ ถ้าใครถามว่าบ้านทั้งหลังชอบเฟอร์นิเจอร์ชิ้นไหนมากที่สุด ก็คงตอบว่าเป็นเตียงนอนหลังนี้หละครับ มันโดนใจสาย Streamline มากๆ แถวไอ้ตรงวงกลมตรงปลายเตียงยังหมุนเล่นได้อีกด้วย ช่างสมัยก่อนนี้ช่างสรรค์สร้างจริงๆ
ตามมาด้วยส่วนของโต๊ะทำงานในห้องนอนครับ
และมินิบาร์เล็กๆ จะได้ไม่ต้องถ่อสังขารลงไปที่ชั้นล่าง แก่แล้วขี้เกียจขึ้นลงบันได
ออกจากห้องนอนไปก็เป็นระเบียงริมแม่น้ำครับ
ได้วิวนี้ บางวันก็มีคนล่องเรือตกปลา บางวันก็มี Banana Boat อีกต่างหาก
เอาโถงบันไดมาฝากครับ ยังโล่งๆอยู่หน่อยกำลังอัดภาพเอามาแขวนเพิ่มเติม
โคมระย้าเป็นโคมไฟเก่ายุค 50s ของคุณย่าครับ แขวนไว้ระลึกถึงท่าน ย้ายมาจากบ้านเดิมอีกหลังริมแม่น้ำที่ อ.เมือง ราชบุรี ครับ
สุดท้ายนี้ ราคาที่ซื้อตัวบ้านมาก็คือ
100,000 บาท (หนึ่งแสนบาทถ้วนครับ) ไม่ถูกไม่แพง หยวนๆไปถือว่าได้รักษาของเก่าครับ ถึงมันจะไม่ใช่งานชิ้นเอก ฝีมือช่างระดับพระกาฬ แต่ประวัติศาสตร์บ้านธรรมดาๆ ของคนกลางๆ ในยุคไหนๆ ก็เป็นส่วนหนึ่งของอดีตของสังคมเรา
รักษาไว้ได้นิดๆ หน่อยๆ ก็ยังดีครับผมตั้งใจไว้อย่างนั้น เสียดายที่เมืองไทยเลือกที่จะทุ่มเทไปกับการอนุรักษ์ haute – culture เสียเป็นหลัก
ค่าเสียหายเบ็ดเสร็จ ดังนี้ครับ
1. ค่าตัวบ้านไม้ที่ซื้อเหมามา 100,000 บาท
2. ค่าช่าง 400,000 บาท
3. ค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ซื้อเพิ่มเติม 300,000 บาท (ส่วนใหญ่เป็นค่ารากฐานส่วนที่เป็นคอนกรีต)
รวม 800,000 บาท เฉพาะตัวบ้าน ไม่รวมเฟอร์นิเจอร์
พื้นที่ใช้สอยบ้านทั้งหมด 150 ตารางเมตรครับ ถ้าตีเป็นมูลค่าสร้างใหม่ปัจจุบันก็อยู่ที่ราวๆ 14,000 ถึง 18,000 บาทต่อตารางเมตร
รวมมูลค่าประมาณ 2,100,000 บาท ถึง 2,700,000 บาท ไม่รวมค่าที่ดินนะครับ ก็คุ้มค่าเหนื่อยไปพอสมควร
หวังว่า กระทู้นี้จะเป็นอีกแรงบันดาลใจ และแนะนำอีกแนวทางหนึ่งให้กับผู้ที่อยากมีบ้าน ในราคาสะบายกระเป๋าขึ้นนะครับ เลือกหาบ้านไม้เก่าๆ โครงดีๆ มาชุบชีวิตใหม่ ประหยัดไปอีกต่อหนึ่งครับ
สุดท้ายนี้ แถมภาพปัจจุบันให้ครับ ยังไม่เสร็จเรียบร้อยดี แต่ก็จะอัพเดทให้ชมเรื่อยๆครับ โดยเฉพาะบน Facebook smungkalarungsi
.
.
ที่มา : สมาชิกหมายเลข 1415794 .