การต่อเติมครัวปูนในบ้าน ช่วยเพิ่มความสะดวกสบายในการใช้งาน แถมยังมีความทนทานกว่าการใช้โต๊ะไม้วางของ แต่มันก็ต้องแลกกับค่าใช้จ่ายที่ค่อนข้างสูง ทั้งในเรื่องของค่าวัสดุและค่าแรงช่าง ดั้งนั้น การต่อเติมครัวด้วยตัวเอง ก็ถือเป็นทางเลือกที่เหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการประหยัดงบ เพื่อช่วยลดค่าแรงและค่าวัสดุอุปกรณ์ที่ไม่จำเป็น
และวันนี้ ในบ้าน ก็ได้นำ รีวิว DIY “ทำครัวปูนสำเร็จรูปด้วยตัวเอง” ดีไซน์ครัวตัวแอลในขนาด 2.5 x 1.5 มตร เป็นตัวอย่างให้กับผู้ที่กำลังมองหาขั้นตอนการทำห้องครัวใช้งานด้วยตัวเอง เป็นผลงานจากคุณ Inzentre เราลองไปชมกันเลยดีกว่าค่ะ
รีวิว การทำครัวปูนสำเร็จรูปด้วยตัวเอง
(โดย Inzentre)
ขออวดภาพที่ทำเสร็จมาให้ชมก่อนครับ ของรกไปนิดนึงอย่าว่ากันนะครับ^^
เรื่องมีอยู่ว่า แฟนอยากได้ครัวที่แข็งแรงทนทาน ไม่ชอบบิ้วอิน ก็เลยสรุปว่าจะทำครัวปูน จึงได้สอบถามราคากับช่างต่างๆ แต่เมื่อเจอราคาก็ถึงกับช็อค ราคาค่าแรงกับเคาน์เตอร์เปล่า ขนาด 2.5×1.5 ม. คิด ประมาณ 18000 บาท (คิดในใจสมัยก่อนราคาไม่ถึงครึ่งเลย) ราคาแรงไปงบยังไม่ถึงก็เลยพับโครงการไปก่อน
จนได้มาเห็นรีวิวก่อสร้างเคาน์เตอร์มวลเบาสำเร็จรูปของตราเพชร นั่งศึกษาอยู่พอสมควร เลยคิดในใจ “เออ เราน่าจะทำได้นี่ว่า ไม่น่ายาก” ก็เลยตัดสินใจไปสั่งเคาน์เตอร์ที่ไทวัสดุ (ต้องสั่งที่แผนกโครงสร้างนะครับ แผนกครัวไปบอก แล้วเขาจะเอ๋อๆหน่อย 555)
ชิ้นส่วนที่สั่งมีดังนี้ครับ
1. Top Sink 150 cm. 1 ชิ้น
2. Top Gar 90 cm. 1 ชิ้น
3. Top Counter 150 cm. 1 ชิ้น
4. Floor Sink 141 cm. 1 ชิ้น
5. Floor Counter 82 cm. 1 ชิ้น
6. Column High 75.5 cm. 5 ชิ้น
ราคาของบวกค่าส่ง(200) อยู่ทีประมาณเกือบๆ 6000 บาทครับ แต่ว่าต้องรอของ 15 วันโดยประมาณนะครับ
และแล้วของก็มาถึง
นั่งเล็งอยู่นาน ลองยกดู หนักกว่าที่คิดแหะ ขั้นแรกเลยที่ทำคือ เจาะรู ซิงค์และเตาแก๊ส
อุปกรณ์ที่ใช้เท่าที่มีก็คือ เครื่องตัดกระเบื้อง เลื่อยลันดา และที่ขาดไม่ได้ก็คือสว่านครับ (จริงตัดมวลเบาควรใช้เลื่อยวงเดือนมากกว่า แต่ว่าเครื่องตัดยืมเขามาอีกทีประหยัดงบ แหะๆ)
อุปกรณ์พร้อมก็ เจาะ …. เจาะ แลัวก็เจาะ ขั้นตอนที่ผมทำก็คือ กำหนดขนาดที่จะเจาะ แล้วก็ใช้เครื่องเจียร์ตัดเซาะร่องนำแนวก็ จากนั้นเอาส่วนค่อยๆ เจาะไล่มาเรื่อยๆจนเลื่อยลันดาเขาไปทำงานได้ จากนั้นก็ตัดด้วยเลื่อยลัดดาเลยครับ
ปล. เจาะช่องเตาแก็สน่าจะต้องโดนเหล็กเสริมในแผ่นพื้นครับ เพราะขนาดเตามันยาวกว่า ช่องที่เขาเตรียมไว้ให้เจาะครับ
ระหว่างที่เจาะช่องต่างๆ ก็โยกมาทำอีกงานคืองานก่อเคาน์เตอร์ครับ ผมเลือกใช้ปูนกาวในการก่อไปเลย ก่อง่ายติดเลยครับ ขั้นตอนก็ใช้เกรียงหวีแปรงลงที่เราต้องการจะก่อ จากนั้นก็ว่าอิฐนั้นลงไป แล้วใช้ค้อนเคาะให้เข้ากันสนิทอีกที อย่าลืมเอาระดับน้ำมาเช็คระดับนะครับ
พอเจาะช่องเสร็จแล้ว ก็นำมาประกอบเป็นท๊อปเคาน์เตอร์เลย ลองเอาซิงค์และเตามาลองสวมดูหน่อย ก็จะได้หน้าตาประมาณนี้ครับ พอก่อเสร็จก็หมดไปวันนึงพอดีเลย ยากกว่าที่คิดแหะ
.
หลังจากก่อเสร็จแล้ว เว้นมาเป็นอาทิตย์ (ทำเฉพาะวันหยุดครับ) ก็มาถึงขึ้นตอนปูกระเบื้อง เป็นขั้นตอนที่หนักใจสุด เพราะต้องตัดกระเบื่องให้เข้าร่อง ซึ่งยากมาก เพราะมันอันตรายและมีโอกาสกระเบื้องแตกได้ ผมเลยเลือกใช้ท๊อปเป็นกระเบื้อง 60×60 ซม.ครับ เหตุผลเพราะว่ากลัวกระเบื้องแผ่นใหญ่แพงๆ จะแตกเอา เลยเซฟเงินตัวเองดีกว่า
เวลาตัดก็ใช้ลูกหมูตัดกระเบื้องครับ บอกเลยถ้าไม่มั่นใจ อย่าลองครับ อันตรายจริงๆ และควรมีอุปกรณ์เซฟตี้ที่พร้อมนะครับ วิธีการก่อก็ใช้ปูนกาว เกรียงหวี ค้อน ระดับน้ำธรรมดาครับ ตัดและก็เสร็จแล้ว รูปร่างก็จะประมาณนี้ครับ
.
.
.
.
พอเริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ก็หาบานตู้ใต้เคาน์เตอร์ซิงค์มาปิด อันนี้จากโฮมโปร สั่งแล้วก็รอเหมือนกันครับ เอามาติดดูว่าต้องก่ออิฐด้านข้างอีกเท่าไหร่
ติดบานตู้เสร็จแล้วก็เอาเศษมวลเบาที่ตัด มาก่อปิดส่วนที่เหลือช่องว่างของบานตู้ครับ หน้าตาก็จะดีขึ้นมาหน่อย
ระหว่างนั้นก็ทาสีผนังไปด้วยเลย คนทำครัวชอบสไตล์มืดๆ ก็จัดให้ครับ เทา ดำทั้งห้อง พอทาเสร็จ ที่ดูดควันก็มาติดให้พอดี (ใช้บริการของโฮมโปร โดยรวมถือว่าโอเค แต่ราคาแอบแพงไปหน่อย)
จากนั้นก็ทำการติดกระเบื้องหน้าหน้าและด้านข้างทั้งหลายครับ ส่วนนี้ผมก็หนักใจที่สุดเหมึอนกันครับ เพราะว่ามันตัดยากและปูยากมากเลย เพื่อจะให้มันสวย ต้องอาศัยคนที่มีฝีมือจริงๆครับ งานถึงจะออกมาเนียบ ซึ่งผมไม่มีเลย ปูเสร็จหน้าตาก็จะแปลกๆหน่อย (ลายอิฐมอญ ผมเป็นคนอยากได้เอง ไม่อยากให้ดำไป ณ ตอนนี้แฟนก็บ่นว่าไม่สวย ผมก็ได้แต่นั่งมองตาปริบๆ ก็ชอบนี่หน่า)
จากนั้นก็ซื้อที่คว่ำจากมาติดอีกนิดให้ดูมีอะไรพอวางได้ หลังจากล้างจานเสร็จ
.
ขั้นตอนสุดท้ายก็คือการเก็บงานยาแนว ขั้นตอนนี้ผมสบายละ ป้ายๆ ปาดๆ เช็ดๆ แป๊ปๆก็เสร็จครับ และแล้ว ครัวผมก็ออกมาหน้าตาแบบนี้ครับ
.
.
.
.
ค่าใช้จ่ายทีก่อเคาน์เตอร์ทั้งหมดก็มีดังนี้ครับ
1. ค่าเคาน์เตอร์ 5900
2. ลูกหมู+ใบตัด ประมาณ 1300 (ซื้อเพิ่มทีหลัง ยืมหลายวันเกรงใจเขาครับ)
3. กระเบื้อง ประมาณ 2000
4. เลื่อยลันดา 199
5. ปูนกาว ประมาณ 500
6. อุปกรณ์เสริมอื่นๆ ประมาณ 500
7. บานตู้ 2590
(สว่าน ตลับเมตร ระดับน้ำมีอยู่แล้วครับ) รวมเลขกลมๆก็ประมาณ 18000 ครับ ราคานี้เท่ากับค่าแรงช่างเลยครับ 5555 แต่ถึงยังไงผมก็เข้าใจช่างครับ ว่างานแบบนี้ต้องอาศัยฝีมือและความอดทนจริงๆครับ กว่าจะเสร็จแต่ละงาน ผมก็ล่อไป 2 เดือนได้ (ทำเฉพาะวันหยุด เสาร์ อาทิตย์) ราคาซิงค์ก็ 3000 ฮูทกับเตาก็ 9900
เบ็ดเสร็จ ครัวนี้ก็หมดไปประมาณ 30000 ครับ ถือว่าประหยัดงบได้ดีเลย
สุดท้ายนี้ รีวิวนี้ผมเสนอเป็นแนวทางสำหรับการทำครัวเองครับ จะบอกว่าเหนื่อยแต่ก็สนุกกับมัน อาจจะมีหลายๆท่านทำได้ดีกว่าผม แต่ตอนนี้ผมก็ภูมิใจแล้วว่า อย่างน้อยๆมันก็ก็สามารถใช้งานได้ครับ ยังไงก็แนะนำติชมได้เลยครับ ความรู้เรื่องช่างผมไม่ค่อยมีเท่าไหร่ พร้อมรับฟังทุกความเห็นครับ ^^
ปล.ขออภัยด้วย ผมหมุนรูปไม่เป็น บางรูปเบี่ยวไม่ชัดเพราะถ่ายแบบพาโนรามาครับ ^^
ที่มา : Inzentre .