ณ ช่วงเวลาที่อากาศในเมืองไทยสูงที่สุดในรอบปีแบบนี้ คงไม่มีใครที่ไม่อยากจะนั่งๆ นอนๆ แช่อยู่ในห้องแอร์เย็นฉ่ำทั้งวัน แต่จะให้ทำแบบนั้นบ่อยๆ ก็อาจจะไม่ไหว เพราะบิลค่าไฟตอนสิ้นเดือนมักจะพุ่งกระฉูดไม่แตกต่างกับอุณหภูมิที่พุ่งสูงขึ้นเรื่อยๆ
แต่ถ้าไม่เปิดแอร์ ก็อยู่ไม่ได้อีกอ่ะ คราวนี้ ในบ้าน ก็เลยเอาทริคดีๆ จากคุณ KanichiKoong มาฝากชาวเว็บกันครับ เป็นทริคที่ทำให้เราสามารถเปิดแอร์เย็นฉ่ำได้ทั้งวัน แต่ขณะเดียวกันก็ช่วยประหยัดค่าไฟไปพร้อมๆ กันด้วย ถึงขั้นที่ว่าไม่ต้องกังวลถึงบิลค่าไฟอีกเลยล่ะ
1. เลือกเครื่องปรับอากาศที่ติดฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5
หากคุณกำลังมองหาแอร์ใหม่สักเครื่อง ควรจะเลือกเป็นเบอร์ 5 และเลือกให้เป็นรุ่นที่ประหยัดไฟที่สุด เพราะถึงแม้จะต้องจ่ายเพิ่มก็เรียกได้ว่าคุ้มค่าในระยะยาวครับ อีกทั้งการเปิดแอร์ในเมืองไทยตลอดเวลาก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร
2. เลือกตำแหน่งติดตั้งให้ดี
การเลือกตำแหน่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยให้ห้องได้รับความเย็นอย่างทั่วถึง จึงไม่ควรให้มีสิ่งมาขวางกั้นทางเดินของลมแอร์ บริเวณที่ควรหลีกเลี่ยงคือ ผนังที่โดนแดดโดยตรง, ประตู, หน้าต่าง เพราะบริเวณเหล่านี้ทำให้ความร้อนไหลเข้ามาแทนความเย็น จะส่งผลให้แอร์ทำงานหนักขึ้น
3. เลือกขนาดความเหมาะสมของห้อง
คงเคยได้ยินหน่วยวัดความเย็นที่เรียกว่า BTU กันมาบ้างแล้ว การเลือกขนาดของห้องให้สอดคล้องกับความเย้นก็ช่วยได้อีกเช่นกัน สมมุติว่าห้องกว้างมาก แต่เลือกแอร์ที่ทำความเย็นไม่ถึง คุณก็เร่งแอร์แทบตาย ค่าไฟพุ่งปรี๊ด แต่ความเย็นไม่กระเตื้อง แต่ถ้าเลือก BTU ใหญ่ทำงานในห้องเล็กก็กินไฟโดยเปล่าประโยชน์ มีแต่เสียกับเสียเท่านั้น
4. ปรับอุณหภูมิให้เป็น
อุณหภูมิที่เย็นสบายอยู่ที่ 25-26 องศา ถ้าเปิดมากกว่านี้จะร้อนเกินไป แต่ถ้าอยากให้ประหยัดไฟเราควรเปิดที่ 28 องศา แล้วเปิดพัดลมช่วย เพราะการที่แอร์ทำงานเบาลงทำให้ค่าไฟลดลงด้วย สำหรับตอนกลางคืนเมื่อเรานอนหลับเราควรเปิดแอร์ไม่ต่ำกว่า 28 องศา เนื่องจากช่วงที่เราหลับร่างกายไม่สามารถปรับอุณหภูมิตามอากาศได้ ดังนั้นเปิดแอร์ในอุณหภูมิเท่านี้ถือว่าช่วยประหยัดไฟ
5. เครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็น นำออกไป
จำพวกตู้เย็น ไมโครเวฟ เตาอบ เครื่องถ่ายเอกสาร พวกเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ไม่จำเป็นเราควรขนย้ายออกไป เนื่องจากเครื่องทำความร้อนพวกนี้จะไปหักล้างกับความเย็นของแอร์ที่ปล่อยออกมา ทำให้เปลืองไฟโดยใช่เหตุ และการเปิดไฟหลายดวงก็เป็นการเพิ่มความร้อนให้ห้องเช่นกัน ทำให้เปิดแอร์แรงขึ้น ค่าไฟบานกระจาย
6. หลีกเลี่ยงกิจกรรมทำความร้อน
เช่น ใช้เตาอบ หรือสูบบุหรี่ เอาง่ายๆ ถ้าหากว่าคุณสูบบุหรี่และเปิดเครื่องระบายอากาศ เป็นการปล่อยให้อากาศข้างนอกไหลเข้ามาแล้วแบบนี้เมื่อไหร่อุณหภูมิในห้องจะเย็นสักที ฉะนั้นง่ายๆ อะไรที่ทำแล้วร้อน งดซะ อย่าให้เหงื่อออกยิ่งดี
7. ใส่เสื้อผ้าที่โปร่งสบาย
เคยเห็นมั้ยครับ บางคนเปิดแอร์ 20 องศา แต่ว่าห่มผ้านอน หรือบางบริษัทเปิดแอร์ 18 องศา แต่ว่าใส่สูท ใส่โอเวอร์โค้ทมาทำงาน แล้วแบบนี้จะเปิดแอร์ให้หนาวสะบั้นหั่นแหลกทำไม เรามาปรับลดแล้วใส่เสื้อผ้าโปร่ง เบาสบายตามแฟชั้นกันดีกว่ามั้น บาลานซ์เพื่อความเหมาะสม
8. ใช้ผ้าม่านเป็นตัวช่วย
พยายามหลีกเลี่ยงการติดตั้งแอร์ในผนังฝั่งตะวันตก หรือ ตะวันออก เพราะทั้งสองฝั่งโดนความร้อนเต็มๆ ดังนั้นเราสามารถแก้ไขได้ด้วยการติดผ้าม่าน ซึ่งผ้าม่านนี้ส่วนมากจะถูกดีไซน์ออกมาเป็น 2 ชั้น คือ ผ้าม่านกรองแสง กับผ้าม่านกันความร้อน ถ้าเราคิดจะเปิดแอรืแนะนำให้ปิดผ้าม่านป้องกันความร้อนจากภายนอกเลยครับ แต่ถ้าใครไมม่มีผ้าม่านก็สามารถใช้ตู้มาปิดทึบบังแดดได้แทนเหมือนกันนะ
9. ตั้งแอร์ไว้ที่ 28 องศาแล้วใช่พัดลมช่วย
อย่างที่อธิบายไว้ในข้อ 4 ว่าอุณหภูมิที่เหมาะสมที่สุดในการเปิดแอร์คือ 28 องศา แล้วใช้พัดลมเป่าเพื่อช่วยให้เครื่องทำงานไม่หนักมากเกินไป และการเปิดพัดลมช่วยในเรื่องของความเร็วลมที่จะกระจายอุณหภูมิไปทั่วห้อง ทำให้รู้สึกเย็นสบายแม้เปิดอุณหภูมิสูง เนื่องจากปัจจัยความเย็นสบายเกิดจาก3สิ่งคือ
- ความชื้นสัมพัทธ์
- ความเร็วลม
- อุณภูมิ
เพิ่มเติมสำหรับห้างร้านบริษัททั่วไป คุณจะเห็นระบบที่เขียนว่า “ระบบปรับน้ำเย็นหรือ chiller” ซึ่งใช้พลังงาน 1 หน่วย/ตัน/ชั่วโมง เช่น เครื่องปรับอากาศขนาด 6 ตัน เป็นเวลา 4 ชั่วโมง ค่าไฟจะอยู่ที่ 6x4x3[ค่าไฟเฉลี่ย 3บาท/หน่วย] รวมเป็นเงิน 72 บาท ทำให้คุณสามารถคำนวณค่าไฟได้เป๊ะ! เห็นอย่างนี้แล้วบ้านเราเข้าข่ายข้อไหนต้องรีบปรับเปลี่ยนโดยด่วน เพื่อที่เราจะได้เปิดแอร์ได้อย่างสบายใจไม่ต้องเครียดตอนเห็นบิลค่าไฟอีกต่อไป
ที่มา : KanichiKoong