หากพื้นที่ใช้สอยในห้องครัวมีจำกัด สิ่งที่สำคัญก็คือการจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ลงไปให้เหมาะสมกับจำนวนตารางเมตรที่มีอันน้อยนิด
ไม่ว่าห้องครัวในบ้านของคุณจะมีขนาดพื้นที่คับแคบเพียงใดก็ตาม แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าการจะมีห้องครัวที่สวยงาม ครบครัน และน่าใช้งานนั้นจะเป็นไปไม่ได้
เพราะหากเรามีเคล็ดลับหรือแนวทางในการจัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ให้ลงตัวล่ะก็ ห้องครัวน้อย ๆ ในฝันของเราก็คงจะเป็นจริงได้ไม่ไกลเกินเอื้อมครับ
วันนี้ ในบ้าน เราก็มีเคล็ดลับดี ๆ ในการออกแบบห้องครัวที่มีพื้นที่คับแคบ ให้มีบรรยากาศที่น่าใช้งานยิ่งขึ้นมาฝากเพื่อน ๆ กัน ซึ่งว่าด้วยเทคนิคต่าง ๆ ในการเลือกสรรและจัดวางองค์ประกอบที่จำเป็นต่าง ๆ ในห้องครัว จะมีอะไรบ้างนั้น ตามมาชมกันเลยครับ
1. หน้าต่างที่เหมาะสม
หน้าต่างคือปัจจัยสำคัญสำหรับทุกห้องในบ้าน ซึ่งก็รวมถึงห้องครัวด้วย จงอย่าให้อะไรมาบดบังหน้าต่างของคุณ เพราะการทำให้มันเป็นช่องรับแสงที่ไม่มีสิ่งใดมาขวางกั้นนั้นจะช่วยให้แสงธรรมชาติและอากาศถ่ายเทได้อย่างเต็มที่ และช่วยในการระบายกลิ่นอาหารอีกด้วย
2. ใช้พื้นที่ในแนวดิ่งให้คุ้มค่า
เวลาที่คุณซื้อเฟอร์นิเจอร์บิวท์อินสำหรับตกแต่งห้องครัวขนาดเล็ก สิ่งที่ควรคำนึงถึงก็คือการใช้พื้นที่ในแนวดิ่งให้คุ้มค่า โดยเฉพาะผนังห้องที่เราสามารถติดตั้งชั้นวางหรือชั้นแขวนได้ ซึ่งหากห้องครัวของคุณมีระดับความสูงจากพื้นถึงฝ้าที่ค่อนข้างมาก ก็จะทำให้จัดวางองค์ประกอบต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลายและประหยัดพื้นที่ได้มากเลยทีเดียว
3. เลือกใช้โทนสีที่เหมาะสม
หากคุณต้องการห้องครัวที่ดูเบาสบายและดูกว้างโปร่งเป็นพิเศษ การเลือกใช้ โทนสีขาว เป็นหลักในการตกแต่งคือคำตอบที่เหมาะสมที่สุด นอกจากจะทำให้บรรยากาศในห้องครัวเล็ก ๆ ดูโปร่งโล่งขึ้นแล้ว มันยังง่ายต่อการเลือกโทนสีจับคู่อีกด้วยเพราะสีขาวนั้นสามารถเข้าได้กับโทนสีแทบจะทุกสีนั่นเอง
โทนสีเทา เป็นโทนสีที่สะท้อนถึงความเรียบง่าย อบอุ่น และทันสมัย ซึ่งก็เป็นอีกโทนสีที่เหมาะสำหรับห้องครัวขนาดเล็ก แนะนำให้เลือกใช้โทนสีขาวหรือสีดำเป็นโทนสีรองจะเข้ากันดีที่สุด
หรือหากคุณเลือกซื้อเฟอร์นิเจอร์และเครื่องใช้ต่าง ๆ ใน โทนสีดำ สิ่งสำคัญก็คือการเลือกสีพื้นหลังที่ต้องมีความสว่างเป็นหลักอย่างโทนสีขาว เช่น ผนังกันเปื้อน พื้น และฝ้าเพดาน เพราะองค์ประกอบการตกแต่งที่มีโทนสีดำนั้นจะทำให้ห้องดูแคบลง ดังนั้นจึงต้องใช้โทนสีขาวมาคลุมทับเพื่อให้การทำงานในห้องครัวไม่รู้สึกอึดอัด
4. ติดตั้งเครื่องใช้ไฟฟ้าเข้ากับเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน
หากเป็นไปได้ แนะนำให้ติดตั้งเครื่องครัวที่เป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ทั้งหมดในห้องครัวให้ฝังเข้ากับเฟอร์นิเจอร์บิวท์อิน ไม่ว่าจะเป็นเตาทำอาหาร ที่ดูดควัน หรือที่ล้างจานไฟฟ้า เพื่อให้ฟังก์ชันการใช้งานมีความคล่องตัวมากที่สุด และยังเป็นการประหยัดพื้นที่ในห้องครัวอย่างชาญฉลาดอีกด้วย
5. รวมห้องครัวเข้ากับห้องนั่งเล่น : แบ่งพื้นที่ด้วยโต๊ะทานข้าว
หากคุณมีพื้นที่ห้องโถงหรือห้องนั่งเล่นที่กว้างมากพอ การจัดมุมห้องครัวไว้ทำอาหารเล็ก ๆ โดยไม่มีผนังกั้นก็เป็นอีกวิธีที่น่าสนใจ ซึ่งคุณไม่จำเป็นต้องทำผนังกั้นหรือเคาน์เตอร์เพื่อแบ่งพื้นที่ เพียงแต่วางโต๊ะทานข้าวไว้ตรงระหว่างโซนห้องครัวและห้องนั่งเล่น วิธีนี้นอกจากจะได้ครัวที่ไม่กินพื้นที่แล้ว ยังทำให้การใช้ชีวิตของแต่ละคนในบ้านมีปฏิสัมพันธ์กันอย่างกลมเกลียวขึ้นอีกด้วย
6. รวมห้องครัวเข้ากับห้องนั่งเล่น : แบ่งโซนด้วยเคาน์เตอร์ครัวไอส์แลนด์
หรือหากคุณอยากมีเคาน์เตอร์ครัวไว้ใช้งานสำหรับครัวขนาดเล็ก การออกแบบห้องครัวรวมกับห้องนั่งเล่นโดยไม่มีผนังกั้นแต่ใช้เคาน์เตอร์ไอส์แลนด์มาแบ่งโซนแทนก็เป็นอีกวิธีหนึ่งที่น่าสนใจเช่นกัน นอกจากจะทำให้มีพื้นที่เตรียมอาหารมากขึ้นแล้ว ยังสามารถเป็นมุมมื้ออาหารเร่งด่วนหรือเป็นบาร์นั่งเล่นก็ยังได้
.
7. แสงสว่างต้องเพียงพอ
แสงสว่างคือปัจจัยที่สำคัญมากอีกอย่างหนึ่งสำหรับการทำงานในห้องครัว เพราะคุณจำเป็นที่จะต้องมองเห็นวัตถุดิบหรือสิ่งต่าง ๆ ในห้องครัวให้ชัดเจน มิเช่นนั้นอาจจะเกิดอุบัติเหตุในการทำงานได้ ซึ่งควรจะเลือกใช้โคมไฟแขวนผนัง โคมไฟระย้า หรือโคมไฟฝังฝ้าเพดาน แทนที่จะเป็นโคมไฟแบบตั้งโต๊ะ เพื่อไม่ให้กินพื้นที่แนวราบนั่นเองครับ
ห้องครัวขนาดเล็กนั้นไม่จำเป็นต้องคับแคบและให้ความรู้สึกอึดอัดแก่ผู้ใช้งานเสมอไป เพียงแต่ต้องคำนึงถึงองค์ประกอบต่าง ๆ ให้เหมาะสมและลงตัว เพียงเท่านี้ แม้จะเป็นห้องครัวแคบ ๆ ก็สามารถใช้งานได้อย่างสะดวกสบายแล้วล่ะ ^_^
ที่มา : dicasonline, Decor Fácil .